6/29/11

คุยกับหนัง กับ อาจารย์ ทรงยศ แววหงษ์ - โปรแกรมภาพยนตร์เดือนมิถุนายน-กันยายน 2554

รายการ คุยกับหนัง กับ อาจารย์ ทรงยศ แววหงษ์ ทุกวันพฤหัสบดีระหว่างเดือน มิถุนายน-กันยายน 2554

ที่ ห้องเรวัติ พุทธินันทน์ หอสมุดปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

ทุกวันพฤหัสตั้งแต่เวลา 17.00 น. (ก่อนและหลังหนังมีการสนทนากับ อาจารย์ ทรงยศ แววหงษ์)

30 มิถุนายน 2554


Bandit Queen (นางพญาโจร)
อินเดีย / 1994 / 119 นาที
ผู้กำกับ: Shekhar Kapur
ผู้แสดง: Seema Biswas / Nirmal Pandey / Aditya Srivastava
ปูลัน เทวีเกิดในตระกูลจัณฑาล ถูกบังคับให้แต่งงานแลกกับวัว 1 ตัวและจักรยานเก่าๆ 1 คัน ชีวิตอันระหกระเหินของเธอทั้งถูกบังคับทำงานหนัก ถูกข่มขืน แล้วเข้าร่วมเป็นโจรในแคว้นอุตรประเทศ เธอโพกผ้าสีแดง บูชาเจ้าแม่ทรคา เธอปล้นคนรวยเจือจานคนจน เส้นทางโจรของเธอจบลงโดยการนิรโทษกรรม จากนั้นได้รับเลือกเป็น ส.ส. ของอุตรประเทศ 2 สมัย (1996 และ 1999) ชีวิตปล้นคนรวยเพื่อคนจนจบลงด้วยเธอถูกลอบฆ่าในปี 2001 ผู้คนจดจำชื่อเธอในฐานะวีรสตรีเพราะเธอเป็นโจรปล้นคนรวย

7 กรกฎาคม 2554
The Red Shoes
อังกฤษ / 1948 / 133 นาที
ผู้กำกับ: Michael Powell และ Emerie Pressburger
ผู้แสดง: Anton Walbrook / Marius Goring / Moira Shearer
“...ดัดแปลงมาจากเทพนิยายของฮันส์ แอนเดอร์เสน หญิงผู้ถูกครอบงำด้วยความทะเยอทะยาน เธอเต้นรำด้วยรองเท้าสีแดง...ทุกอย่างเป็นไปได้ด้วยดี เธอเต็มไปด้วยความสุข เมื่อตกเย็น เธอเหนื่อยสุดขาดใจ และอยากจะกลับบ้าน แต่รองเท้าสีแดงไม่เคยเหน็ดเหนื่อย และเธอถูกลากให้เต้นรำต่อไป...”

14 กรกฎาคม 2554
Evita
อเมริกา / 1996 / 135 นาที
ผู้กำกับ: Alan Parker
ผู้แสดง: Madonna / Jonathan Pryce / Antonio Banderas
จากหมู่บ้านที่ยากจน Eva ก้าวมาสู่การเป็นภริยาจอมเผด็จการฆวน เปรอง อดีตประธานาธิบดีอาร์เจนตินา เธอคือเจ้าแม่ เธอคือยาเสพติด เพราะเธอคือประชานิยม

21 กรกฎาคม 2554
Lourdes
ออสเตรีย-ฝรั่งเศส-เยอรมนี / 2009 / 96 นาที
ผู้กำกับ: Jessica Hauser
ผู้แสดง: Sylvie Testud / Lea Seydoux / Gilette Barbier
คริสตีนต้องนั่งรถเข็นเพราะพิกลพิการ เธอออกเดินทางจาริกแสวงบุญไปยังเมืองลูร์ดที่ซึ่งพระแม่มารีเคยมาประจักษ์ ด้วยหวังในปาฏิหาริย์เช่นเดียวกับคนพิการอื่นๆ ว่าชีวิตจะดีขึ้น

28 กรกฎาคม 2554
1984
อังกฤษ / 1984 / 113 นาที
ผู้กำกับ: Michael Redford
ผู้แสดง: John Hurt / Richard Burton / Suzanna Hamilton
ในสังคมเผด็จการเบ็ดเสร็จแบบโอเชียเนียนั้น บิ๊กบราเธ่อร์สอดส่องทุกคนในสังคม แม้ความคิดที่แตกต่างก็เป็นอาชญากรรมต่อรัฐ

4 สิงหาคม 2554
Travellers and Magicians
ออสเตรเลีย-ภูฏาน / 2004 / 108 นาที
ผู้กำกับ: Khyentse Norbu
ผู้แสดง: Tshewang Dendup / Sonam Lhamo / Deki Yangzom
ครูหนุ่มต้องการหนีชีวิตอันจำเจของหมู่บ้านชนบทห่างไกล เพราะมีโอกาสจะได้ไปอเมริกา ระหว่างเดินทางได้พบกับพระ และได้ฟังนิทานอันแปลกประหลาด พาความคิดเขาไปยังดินแดนมหัศจรรย์

11 สิงหาคม 2554
Bend it Like Beckham
อังกฤษ-อเมริกา-เยอรมนี / 2002 / 112 นาที
ผู้กำกับ: Gurindar Chadha
ผู้แสดง: Parminder Nagra / Keira Knightley / Jonathan Rhys
เด็กสาวอินเดีย เกิดในอังกฤษ คลั่งไคล้ฟุตบอล แต่การจะเป็นดาราฟุตบอลนั้น เธอจะต้องเลือกระหว่างครอบครัวและขนบจารีตแบบอินเดีย กับสตั๊ดฟุตบอล

18 สิงหาคม 2554


Boats Out of Watermelon Rinds
ตุรกี / 2004 / 97 นาที
ผู้กำกับ: Ahmet Ulucay
ผู้แสดง: Fizuli Caferof, Gülayse Erkoc and Hasbiye Günay
ในชนบทอันห่างไกลของตุรกี ยังมีเด็กขายแตงโม เด็กในร้านตัดผม หญิงงามแรกรุ่น ความรักที่เคอะเขิน กับความฝันที่จะสร้างเครื่องฉายหนังด้วยตัวเอง


25 สิงหาคม 2554
Balzac and the Little Chinese Seamstress
จีน / 2002 / 110 นาที
ผู้กำกับ: Sijie Dai
ผู้แสดง: Xun Zhou / Kun Chen / Ye Liu
Lou และ Ma ถูกส่งไปยังชนบทห่างไกลเพื่อ “การศึกษาใหม่” ตามนโยบายปฏิวัติวัฒนธรรมของจีนในทศวรรษที่ 1970 ทั้งคู่ชอบพอ “สาวน้อยช่างปัก” และบอกรักเธอด้วยการอ่านนิยายตะวันตกซึ่งเป็นสิ่ง “ต้องห้าม” นวนิยายของบัลซัคได้นำพาสาวน้อยไปสู่ขอบฟ้าใหม่

1 กันยายน 2554
The Secret of the Grain
ฝรั่งเศส / 2007 / 151 นาที
ผู้กำกับ: Abdellatif Kechiche
ผู้แสดง: Habib Boufares / Hafsia Herzi / Farida Benkhetache
Slimane หวังดัดแปลงเรือเก่าให้เป็นภัตตาคารที่ขายอาหารเลื่องชื่อ คุสคุส และปลาตามแบบฝรั่งเศสเชื้อสายอาหรับ ความพยายามจะเปิดร้านเปิดประเด็นปมชีวิตของคนต่างๆ ที่อยู่ร่วมกันในครอบครัว

8 กันยายน 2554
Bella
อเมริกา / 2006 / 91 นาที
ผู้กำกับ: Alejandro Gomez Monteverde
ผู้แสดง: Eduardo Verastegui / Tammy Blanchard / Manny Perez
อดีตนักฟุตบอล สาวเสิร์ฟในร้านอาหารต่างพยายามต่อสู้กับอดีตอันขมขื่น จวบจนจังหวะเล็กๆ ได้พลิกผันชีวิตของคนทั้งสองอีกครั้งหนึ่ง

8 กันยายน 2554


Al otro lado
เม็กซิโก / 2004 / 90 นาที
ผู้กำกับ: Gustaro Leza
ผู้แสดง: Carmen Maura / Hector Suarez / Venessa Bauche
เด็กสามคนในสามประเทศคือเม็กซิโก คิวบาและมอรอคโคต้องต่อสู้กับความเป็นจริงที่โหดร้ายในฐานะเป็น “ผู้อพยพ” ในประเทศของตนเอง

22 กันยายน 2554
Cairo Time
คานาดา-ไอร์แลนด์-อียิปต์ / 2009 / 90 นาที
ผู้กำกับ: Ruba Nadda
ผู้แสดง: Patricia Clarkson / Alexander Siddig / Elena Anaya
ขณะที่จูเลียตรอสามีในอียิปต์ ตาเรคผู้ร่วมงานของสามีเธอได้ช่วยเข้ามาดูแล ทั้งคู่เดินเข้าไปยังซอกมุมต่างๆ ของอียิปต์ และหลืบเร้นอารมณ์ความรู้สึกของทั้งสองคน




29 กันยายน 2554
Avalon
อเมริกา / 1990 / 128 นาที
ผู้กำกับ: Barry Lerison
ผู้แสดง: Armin Mueller-Stahl / Elizabeth Perkin / Joan Plowright
อวาลอนเป็นดินแดนศานติก่อนเดินทางต่อไปยังสวรรค์ ครอบครัวยิว-รัสเซียอพยพมาอยู่อเมริกาที่เมืองเล็กๆ ชื่ออวาลอน ลูกหลานในรุ่นต่อๆ มาไม่ได้ร่วมสานฝันกับคนรุ่นพ่อแม่อีกต่อไป

6/27/11

Sound It Out ลำนำภาพอาลัยแผ่นเสียงไวนีล


ในทุก ๆ 3 วัน จะมีร้านขายแผ่นเสียงปิดตัวในอังกฤษไปอีกร้านหนึ่ง

หนังสารคดี Sound It Out ของ Jeanie Finlay บทบันทึกถึงร้านขายแผ่นเสียงไวนีลที่กำลังลาจากโลก

http://www.sounditoutdoc.com/

6/26/11

โปรแกรมหนัง Weak Brutes: The Broken Ego of Men (ไอ้พันธุ์เปลี้ยอีโก้ปรอท)

ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส) ร่วมกับ สำนักหอสมุดปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ขอเชิญชม โปรแกรมภาพยนตร์

Weak Brutes: The Broken Ego of Men
aka The Decline of Patriarchy (ไอ้พันธุ์เปลี้ยอีโก้ปรอท)
ซึ่งว่าด้วยซากโทรมของวัฒนธรรมปิตาธิปไตย

วันอาทิตย์ที่ 3 กรกฏาคม และ 10 กรกฏาคม 2554 รอบแรกเวลา 12.30 น. และรอบสอง 14. 30 น. (โดยประมาณ)

ฉายที่ห้องเรวัติ พุทธินันทน์ ชั้นใต้ดิน U 2 ของ หอสมุดปรีดี พนมยงค์ ตึกสีขาวสูงริมน้ำ - มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

* ชมฟรี แต่ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ประตูทางเข้าห้องสมุดว่ามาชมภาพยนตร์ *
โทรศัพท์ 02-613 3529 หรือ 02- 613 3530

ไม่ว่าหญิงชายจะมาจากคนละดาวเดียวกัน หรือมาจากดาวศุกร์ ดาวอังคาร ล้วนมากเรื่องมากลาย ตกลงจะสุขสมในการงัดข้อและทำร้ายเพศตรงข้ามกันเสมอไปใช่ไหม อย่าได้เริ่มเชียวกับการทำเล่นเกมหนุ่มหิ้วสาวแปลกหน้าแบบเรื่องสั้น “เกมโบกรถ” (The Hitchhiking Game) ของ มิลาน คุนเดอร่า หรือหลงว่าตัวเองเป็น จูเลียต บิโนช ที่อินจัดกับบทผัวเมียพิมพ์นิยมใน Certified Copy ของ อับบาส เคียรอสตามี่ ก็ถ้ารักจะมารยามายาตบจูบแบบหนังพิศาลกันแบบนี้ ไม่ว่าจะอยู่ยุคไหน ต่อให้เป็นเฟมินิสต์ยุคบุกเบิก หรือยุคโพสต์เจมส์บอนด์เชิดชูนายผู้หญิงกับบท “M” (จูดี้ เดนช์) ละก็นะ ตัวใครตัวมันดีฝ่า

เอาน่ะ มาดูหนังที่แสดงซากโทรมของวัฒนธรรมปิตาธิปไตย และกลเกมรัญจวนจิตที่ผู้หญิงสมยอมและเกริ่นนำ ปฏิบัติการทำร้ายตัวเองคาบลูกคาบดอกที่ไม่มีวันปะชุนรอยโหว่ที่กางเกงได้ ตราบใดที่ตูข้ายังเป็นตูข้าและยังเป็นตูข้าที่จะเอาทุกอย่างที่ขวางหน้า แต่ไม่อาจมอบอะไรคืนกลับ

หนังเรื่องอื่น ๆ ในหมวดรักร้ายชายหญิงที่ ควรหามาชมเพิ่ม เช่น La discrète (Christian Vincent), Marnie (Alfred Hitchcock) และ The Shape of Things (Neil La Bute) รวมทั้งเรื่องสั้นของ อลิซ มุนโร (Alice Munro) หลายเรื่องก็เข้าข่ายควรอ่านเป็นที่สุด


The Decline of Patriarchy Film Program
โปรแกรมหนังปะชุนกางเกง-กระโปรงแบบเอาไม่อยู่

3 July 2011

Marco Ferreri’s Cruel Game Double Bill

12.30 - Her Harem

2.30 pm - The Last Woman

10 July 2011

Men’s Unmendable Ego

12.30 - The Beguiled
2.30 pm - In The Company of Men

เรื่องย่อ
Her Harem (กำกับ / เขียนบท - Marco Ferreri)

เธอรักชายทั้งสามคน 3 ชาย 3 แบบ ที่ปากขยิบ ตาเผยอ อ้างว่า ควรมิควรแล้วแต่เธอพึงประสงค์ แต่สุดท้ายก็อยากจะกำหนดเธอไว้ในรูปแบบพิมพ์นิยมของผู้หญิง ครั้นหากเธอต้องการจะรักชายทั้งสามในเวลาเดียวกันล่ะ ฟ้าคงจะแตก ดินจะทลาย และ ผุดนิสัยแท้จริง

The Last Woman (กำกับ / เขียนบท - Marco Ferreri)

เฌราร์ด เดอปาร์ดิเญอ ซูเปอร์สตาร์เมืองน้ำหอมกับบทหนุ่มลูกติดที่ปากร้ายใจเร็ว และดิบหยาบในลักษณะเบบี้มาโช เกินกว่าที่จะซาบซึ้งในความละเอียดอ่อนของเพศหญิง ซึ่งต้องการความรักและการดูแลเอาใจใส่ และวันดีคืนดีเมื่อพบสัมพันธ์กับสาวน้อยนางหนึ่ง (ออร์เนลล่า มูติ) นั่นคือจุดเปลี่ยนที่หนุ่มมาโชทื่อมะลื่ออย่างเขาจะประจักษ์แจ้งในใจ

The Beguiled (กำกับ - Don Siegel)

หนังที่ คลิ้นท์ อีสต์วู้ด (Million Dollar Baby, Unforgiven) นำแสดงและอำนวยการสร้างเอง เป็นการพลิกบทบาทครั้งสำคัญของเขา จากบทปืนเดือดสันโดษ มาเป็นบททหารบาดเจ็บที่ตกอยู่ใต้การปฐมพยาบาลแบบใกล้ชิดของกลุ่มนักเรียนหญิงและครูทึนทึก

In The Company of Men (กำกับ / เขียนบท - Neil La Bute)

หนังเรื่องแรกของนักเขียนบทละคร Neil La Bute ซึ่งแสดงภาพหนุ่มนักบริหารใจโฉดสองคนที่โดนผู้หญิงทำร้ายหัวใจมา พวกเขาจึงรวมหัวกันหาเหยื่อสาวคนที่ดูจิตใจดีงามที่สุด เพื่อหักหาญเธอและทวงคืนอีโก้แตกสาแหรกของตัวเองคืน
สมควรดูเรื่องนี้ควบกับ The Shape of Things หนังหญิงแสบชายกระสันต์อีกเรื่องของ Neil La Bute (The Wicker Man)

6/24/11

Love of the Economist / เกมรัก นักเศรษฐศาสตร์


ละครเรื่องสุดท้ายของ Naked Masks Theatre's Summer Season 2011

กับ เรื่องราวความรักบนสงครามแห่งอุปสงค์และอุปทาน ใน
"LOVE of the ECONOMIST...เกมรัก / นักเศรษฐศาสตร์"
จาก หน้ากากเปลือยการละคร ร่วมกับ นินาทสตูดิโอ

เมื่ออ.รุจน์ ผู้เคยทำนายว่า
ประเทศไทยจะเข้าสู่ "ยุคฟองสบู่แตก"
ก่อนจะกลายเป็น "ตัวตลก" ให้คนทั้งประเทศ
คิดว่าเขาเป็นผู้งมงายในสิ่งลี้ลับได้หายสาบสูญไป
พร้อมกับทิ้งบันทึกคำทำนาย"เศรษฐศาสตร์วันโลกาพินาศ"
ให้ศิษย์นักเศรษฐศาสตร์หนุ่มที่พึ่งลาออกจากแบ๊งค์ชาติ
มาทำธุรกิจค้าเงิน

จนศิษย์รักคนนี้ต้องออกติดตามร่องรอย
ที่อาจารย์ทิ้งไว้ จากปอยเปต ถึง มาเก๊า

การผจญภัยบนโลกของ
อุปสงค์และอุปทานที่เข้มข้น
กำลังจะเริ่มขึ้น

กำกับและเขียนบท โดย
นินาท บุญโพธิ์ทอง

แสดงโดย
ขรรค์ชัย กลีบการะเกตุ
ขนิษฐา นงนุช
อารยา พิทักษ์
ฌิณณ์นัท นพขำ
อธิศ ธรรมรุจา
ธัญญานันต์ คูอนุพงศ์
และ วีรชัย กอหลวง

พบกัน
23 มิถุนายน ถึง 3 กรกฎาคม 2554
พฤหัสบดี และ ศุกร์ 19.30 น
เสาร์ และ อาทิตย์ 14.00 น และ 19.30 น
""""""""""""""""""""

แสดงที่โรงละครชุมชนพญาไท-ราชเทวี
ชั้น 1 อาคารบ้านราชเทวี
ท้ายซอยเพชรบุรี 7

*บัตรทั่วไปราคา 250 บาท
*นักเรียน-นักศึกษา
และสมาชิกหน้ากากเปลือย 150 บาท

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
PHONE: 080 281 1698
E-mail: nakedmasks@gmail.com
FACEBOOK "Naked Masks Network"
http://nakedmasksnetwork.blogspot.com/

Flu-Fool ภาคสองในงานทวิภาคจาก คาเงะ - ธีระวัฒน์ มุลวิไล

Flu O Less Sense กลับมาอีกครั้ง พร้อมกับภาคต่อ Fool Alright ใน ‘Flu-Fool’
ผลงาน physical theatre ที่ผสมผสาน มัลติมีเดียอย่างลงตัว โดยกลุ่มบีฟลอร์

‘Flu-Fool’ เป็นชื่อเล่นของงานการแสดงทวิภาคชิ้นล่าสุดของบีฟลอร์ ซึ่งประกอบไปด้วยภาคแรก Flu O Less Sense หรือ ไข้ประหลาดระบาดไทย จัดแสดงครั้งล่าสุด ณ Tokyo Metropolitan Arts Space กรุงโตเกียวประเทศญี่ปุ่น โดยจัดแสดงขึ้นครั้งแรกในโรงละครเล็กๆย่านบ่อนไก่ หลังเหตุการณ์เดือนพฤษภา 2553 ไข้ประหลาดระบาดไทย จึงเป็นเหมือนบทบันทึกในรูปแบบการแสดงของคนกลุ่มเล็กๆ ในช่วงเวลาที่สังคมไทยอยู่ท่ามกลางสงครามข่าวสาร, ความสับสนในข้อมูล, ความศรัทธาที่สั่นคลอน, มิตรภาพที่เปราะบาง, ความตายและผู้ร้ายปริศนา

ภาคที่สอง Fool Alright สร้างสรรค์ขึ้นใหม่ในพ.ศ.นี้นำเสนอด้วยเนื้อหาที่จริงจังแต่ขบขันแบบตลกร้าย ผ่านบทสนทนาอันไร้ความหมายแต่ชัดเจนในเจตจำนง, การเคลื่อนไหวร่างกายอย่างสุดเหวี่ยงของ performing artist ชั้นนำ พร้อมๆกับงาน motion graphic ที่ตื่นตาตื่นใจ

‘Flu-Fool’ การแสดง contemporary performance ที่กล้าตั้งคำถามอันแสนสามัญแต่อาจสั่นสะเทือนจิตวิญญาณของปัจเจก “หากสิ่งที่คุณเชื่อกำลังล่มสลาย คุณจะคว้าความเชื่อใหม่ หรือยื้อความเชื่อเก่าไว้จนสุดแรง”

กำกับการแสดงโดย ธีระวัฒน์ มุลวิไล ผู้กำกับ และนักแสดงที่มีผลงาน contemporary performing arts อย่างต่อเนื่องทั้งในและนอกประเทศมาตลอด 10 ปี

ดูแลออกแบบเสียง
โดย กฤษฎา เรเยส

ออกแบบ motion graphic
โดยดีไซเนอร์ไฟแรง เตชิต จิโรภาสโกศล, หลี ซื่อต่อศักด์

ร่วมด้วยนักแสดงที่ฝากฝีมือบนเวทีมามากมายอย่าง อรอนงค์ ไทยศรีวงศ์, นานา เดกิ้น, ศศพินทุ์ ศิริวาณิชย์, วรัญญู อินทรกำแหง, ศรุต โกมลิทธิพงศ์, ศักรินทร์ ศรีม่วง และ บัณฑิต แก้ววันนา

สถานที่แสดง : 13-14 และ 20-24 กรกฎาคม 2011 (พุธ-เสาร์) เวลา 2 ทุ่ม ที่สถาบัน ปรีดี พนมยงค์

6/4/11

หรรษาประสาอิตาลีกับ MARIO MONICELLI ที่เทศกาล MOVIEMOV 2011

โดย . . . ‘กัลปพฤกษ์’ kalapapruek@hotmail.com



ยิ่งใหญ่และน่าสนใจกว่าทุก ๆ ปี สำหรับงานเทศกาลภาพยนตร์อิตาลี ประจำปี ค.ศ. 2011 นี้ ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-12 มิถุนายน ณ โรงภาพยนตร์ SFX CINEMA ชั้น 6 ศูนย์การค้า EMPORIUM ซึ่งทางสถานทูตอิตาลีประจำประเทศไทย พร้อมแนวร่วมทั้งหลายได้ผนึกกำลังกันขนหนังเด่นหนังดีมาให้ผู้ชมชาวไทยได้ดูกันถึงที่ โดยกิจกรรมนี้ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลศิลปะวัฒนธรรมอิตาลีทั้งยังมีการตั้งชื่อใหม่ให้ฟังดูเก๋ไก๋ว่า MOVIEMOV ครั้งที่ 1 ซึ่งก็นับเป็นงานอีกที่บอกได้วลีเดียวว่า ‘จงไป’ เพราะนอกจากจะฉายพร้อมคำบรรยายภาษาไทยแล้วทุกเรื่องยังเชิญชวนให้ดูแบบฟรี ๆ ชนิดมิต้องออกแรงควักกระเป๋าซื้อตั๋วกันเลยทีเดียว ใจดีกันถึงขนาดนี้หากจะมีการแจก panini กับ macchiato ให้ได้ดื่มเคี้ยวกันในโรงด้วยนี่ก็คงไม่แปลกใจ เพราะผู้จัดงานเขาเหมือนตั้งใจจะให้บริการกันแบบไม่ยอมให้เราต้องหมดเปลืองแม้แต่สลึงเฟื้องเดียวเลยจริง ๆ
เหลียวดูโปรแกรมหนังที่จะนำมาฉาย นอกเหนือจากหนังอิตาลีของผู้กำกับรุ่นใหม่ ๆ ที่ได้รับเสียงชื่นชมจากเทศกาลต่าง ๆ ในรอบปีที่ผ่านมา ผู้เขียนก็มีอันต้องสะดุดตากับกิจกรรมในสาย Classic Retrospective ที่เป็นการเปิดเวทีสดุดีผลงานของ Mario Monicelli ผู้กำกับที่เพิ่งจะลาจากโลกนี้ไปเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีกลาย จนอดไม่ได้ที่จะต้องขอออกหน้าอาสาเป็นกองเชียร์ชักชวนผู้ที่สนใจทั้งหลายให้ได้ลองสัมผัสกับงานของหนึ่งในปรมาจารย์ด้านการทำหนังตลกรายสำคัญของโลกท่านนี้ดู Mario Monicelli เป็นผู้กำกับเพียงไม่กี่รายที่สามารถสร้างงานที่ประสบความสำเร็จทั้งในด้านการตลาดและการกวาดคำชมจากนักวิจารณ์ในฐานะงานศิลปะ จากผลงานหนังขนาดยาวจำนวน 50 กว่าเรื่องที่เขาทำมาอย่างต่อเนื่องระหว่างปี ค.ศ. 1950 - 2006 Monicelli มีทั้งหนังที่ได้รับความนิยมในหมู่ผู้ชมจนต้องทำออกมาเป็นภาคต่ออย่าง Totò Looks for an Apartment (1950) Big Deal on Madonna Street (1958) For Love and Gold (1966) กับ My Friends (1975) พร้อม ๆ กับการเป็นผู้กำกับมือรางวัลเจ้าของรางวัลสิงโตทองคำจากเทศกาลภาพยนตร์เมืองเวนิสจากเรื่อง The Great War (1959) ไม่เพียงเท่านั้น เขายังมีหนังเข้าชิงรางวัลปาล์มทองคำที่เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ถึง 5 วาระ แถมยังจะเคยคว้ารางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมจากเทศกาลภาพยนตร์เมืองเบอร์ลินมาแล้วถึง 3 เด้ง เคล็ดลับสำคัญที่ทำให้งานของ Monicelli สามารถชนะใจได้ทั้งในหมู่ผู้ชม นักวิจารณ์ รวมทั้งคณะกรรมการก็คือ หนังของเขาเป็นงานที่สนุกและดูง่ายจนแทบไม่ต้องป่ายปีนกระได หากยังแฝงไว้ด้วยเนื้อหาสาระที่สะท้อนธรรมชาติทั้งด้านดีและร้ายของมนุษย์ได้อย่างลึกซึ้งคมคายไม่แพ้ผู้กำกับชื่อดังรายอื่นไหนเลย งานของเขาจึงน่าจะใช้เป็นหลักฐานยืนยันได้อย่างดีว่าสาระและความบันเทิงมิใช่สองสิ่งที่จำเป็นจะต้องเดินสวนทางกัน ทุกอย่างมันขึ้นกับ ‘ฝีมือ’ ของคนทำมากกว่าว่าจะรักษาองค์ประกอบสองส่วนนี้ได้อย่างเข้มข้นแค่ไหน ดังที่ Monicelli ได้เคยแสดงไว้ในผลงานหลาย ๆ ชิ้นของเขา
สำหรับงานเทศกาล MOVIEMOV ครั้งนี้ก็จะมีหนังของ Mario Monicelli มาฉายให้ดูจำนวนทั้งหมด 7 เรื่องด้วยกัน ซึ่งผู้เขียนก็ขอถือโอกาสหยิบเอาผลงานจำนวน 4 เรื่องที่ผู้เขียนมีโอกาสได้ดูแล้วมาบอกเล่าให้คุณผู้อ่านที่อาจยังไม่ได้ดูได้รับฟัง สำหรับงานเทศกาล MOVIEMOV ครั้งนี้ก็จะมีหนังของ Mario Monicelli มาฉายให้ดูจำนวนทั้งหมด 7 เรื่องด้วยกัน ซึ่งผู้เขียนก็ขอถือโอกาสหยิบเอาผลงานจำนวน 4 เรื่องที่ผู้เขียนมีโอกาสได้ดูแล้วมาบอกเล่าให้คุณผู้อ่านที่อาจยังไม่ได้ดูได้รับฟัง ว่าหนังของ Monicelli จะมีมุกกวน ๆ ฮา ๆ แบบไหนอย่างไรมาให้เราได้หัวร่องอหายกันบ้าง . . .

BIG DEAL ON MADONNA STREET (1958)



หนึ่งในหนังที่ทำรายได้เป็นกอบเป็นกำมากที่สุดของ Mario Monicelli เรื่องนี้ยังมีดีกรีเป็นหนังเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม ประจำปี ค.ศ. 1959 อีกด้วย Big Deal on Madonna Street เป็นหนังที่จะพาเราไปติดตามเบื้องหลังการทำงานของกลุ่มโจรกระจอกที่วางแผนจะจารกรรมเงินในตู้นิรภัยของโรงรับจำนำของรัฐบาล โดยพวกเขาจะบุกผ่าน apartment หลังที่อยู่ติดกันในยามวิกาลด้วยการงัดแงะและเจาะผนังโดยปราศจากเสียงดังเพื่อแอบเข้าไปยังจุดเก็บเงิน ซึ่งจอมโจรทั้งสี่นี้ก็ประกอบไปด้วย Peppe (Vittorio Gassman) อดีตนักมวยหนุ่มผู้ตกอับ Tiberio (Marcello Mastroianni) หัวขโมยพ่อลูกอ่อน Capannelle (Carlo Pisacane) โจรชราจอมตะกละ และ Ferribotte (Tiberio Murgia) ลูกสมุนหนวดงาม และแม้ว่าพวกเขาจะวางแผนการต่าง ๆ ไว้อย่างดิบดีเพียงไร แต่ความเฟอะฟะไม่เอาไหนของพวกเขาก็มีอันต้องทำให้อะไร ๆ ต้องผิดแผนได้เสมอ
ความเจ็บแสบของ Big Deal on Madonna Street คงไม่ได้อยู่ที่วิธีการที่เหมือนจะแยบยลของจารชนกลุ่มนี้ แต่กลับอยู่ที่การนำเสนอตัวละครของ Monicelli ที่แสดงความเป็น ‘มิจฉาชีพ’ ของพวกเขาราวกับว่ามันเป็นสิ่งที่สืบทอดทางสายเลือดและมันอาจเป็นครรลองชีวิตเพียงรูปแบบเดียวที่พวกเขาสามารถยึดถือได้ในสภาวการณ์อันโหดร้ายของบ้านเมืองในช่วงเวลานั้น หนังจงใจถ่ายทอดให้เห็นถึงความเสื่อมโทรมของแหล่งชุมชนแออัดในกรุงโรมกันอย่างตรงไปตรงมา ชวนให้รู้สึกว่าคนอิตาลีนี่เขาช่างกล้าเปิดเผยความเป็นไปในแง่ร้ายของบ้านเขาเมืองเขาให้เราได้ดูกันอย่างจริงใจโดยไม่ต้องเสียเวลามาสร้างภาพอะไรกันให้เหนื่อยเพลีย หนังเกี่ยวกับจอมโจรมาเฟีย หรือนักการเมือง corruption ทั้งหลาย จึงได้รับการสนับสนุนให้ไปอวดโฉมในเวทีระดับนานาชาติได้ ไม่ยักกะเหมือนบ้านเราเลยสักนิด Monicelli เล่าเรื่องราวทั้งหมดใน Big Deal on Madonna Street ด้วยบทสนทนาที่ช่างคิดช่างหาแก๊กมาได้อย่างสุดยียวน ชวนให้ต้องส่ายหัวไปกับความบ้าบอคอแตกของเหล่าตัวละครกลุ่มนี้ และถึงแม้ว่าหนังจะสร้างมาแล้วกว่า 50 ปี แต่เนื้อหาและความฮาของมันกลับไม่มีอะไรตกสมัยไปกับกาลเวลาเลย

THE GREAT WAR (1959)



ถัดจาก Big Deal on Madonna Street เพียงหนึ่งปี Monicelli ก็มีโอกาสทำหนังแดกดันสงครามเรื่อง The Great War ที่ได้นักแสดงคู่บุญอย่าง Alberto Sordi มารับบทคู่กับ Vittorio Gassman หนังได้เข้าร่วมประกวดที่เทศกาลภาพยนตร์เมืองเวนิส และสามารถคว้ารางวัลใหญ่อย่างสิงโตทองคำมาได้พร้อม ๆ กับเรื่อง Generale della Rovere (1959) ของ Roberto Rossellini สำหรับใน The Great War นี้ Monicelli ได้เล่าถึงประสบการณ์ในกองทัพของสองหนุ่ม Oreste (Sordi) และ Giovanni (Gassman) ที่ถูกเกณฑ์เป็นทหารอย่างไม่เต็มใจในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ซึ่งสันดานของการเป็นคนหัวใสของทั้ง Oreste และ Giovanni ก็ทำให้พวกเขาพยายามทุกวิถีทางที่จะหนีห่างจากภารกิจจำเป็นในครั้งนี้ แต่ฟ้าก็ยังอุตส่าห์ลิขิตให้พวกเขาไม่สามารถหลบหนีไปไหนได้ แถมยังต้องเสี่ยงอันตรายไปร่วมรบในแนวหน้าคอยหลบห่ากระสุนจากข้าศึกกันอย่างอุตลุดอลเวง
หนังเริ่มต้นด้วยเนื้อหาแนว ‘กองพันทหารเกณฑ์’ เล่าเรื่องราวสนุกสนานของทหารใหม่ในกองทัพกันอย่างเบาสมอง ก่อนที่ประสบการณ์ของทั้ง Oreste กับ Giovanni จะค่อย ๆ นำพาผู้ชมไปสัมผัสกับเรื่องราวสะเทือนใจ เมื่อพวกเขาต้องเสียเพื่อนร่วมรบไป แถมยังจะได้เจอกับภรรยาของทหารกล้ารายนั้นโดยบังเอิญที่สถานีรถไฟในภายหลัง โทนหนังในช่วงนี้จะค่อย ๆ ทวีความจริงจังผ่านการตั้งคำถามต่อความไร้สาระของสงครามมากขึ้น ๆ ซึ่งก็จะนำไปสู่บทสรุปอันน่าใจหายที่อาจจะพัฒนาจากความตลกโปกฮาไปเสียไกลจนไม่น่าจะมีใครกล้าหัวเราะได้อย่างเต็มเสียงอีก เรื่องราวที่อิงกับบริบทของสงครามโลกครั้งที่หนึ่งในบางช่วงอาจเป็นอุปสรรคในการทำความเข้าใจสำหรับผู้ชมชาวไทย แต่เนื้อหาโดยส่วนใหญ่ของ The Great War ก็ยังสากลพอที่ ‘คนนอก’ อย่างเรา ๆ จะสามารถร่วมสัมผัสและเข้าใจไปกับความรู้สึกเจ็บปวดเหล่านั้นได้ จนกลายเป็นหนังตลกที่ชวนให้ขื่นใจได้มากที่สุดเรื่องหนึ่งของ Monicelli เลยทีเดียว นอกจากจะได้รับรางวัลสิงโตทองคำมาแล้ว The Great War ยังติดโผเป็นหนึ่งในหนังที่ได้เข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม ประจำปี ค.ศ. 1960 เช่นเดียวกับ Big Deal on Madonna Street อีกด้วย

AN AVERAGE LITTLE MAN (1977)



แม้จะสร้างมาจากนิยายชื่อเดียวกันของ Vincenzo Cerami แต่ An Average Little Man ฉบับหนังนี้ก็ยังคงเอกลักษณ์ของความเป็น Monicelli ไม่แพ้หนังที่เขาเขียนบทเองเรื่องอื่น ๆ เลย An Average Little Man เราเรื่องราวขำขันของ Giovanni (รับบทโดยขาประจำ Alberto Sordi ) เจ้าหน้าที่หนุ่มใหญ่วัยใกล้ปลดเกษียณ ณ หน่วยราชการแห่งหนึ่ง ผู้ซึ่งอาศัยอยู่กับภรรยาและบุตรชายในกรุงโรม เมื่อบุตรชายอายุถึงวัยที่จะได้ออกทำงาน Giovanni จึงวาดฝันที่จะให้เขาเจริญรอยตามความสำเร็จที่คุณพ่อได้ปูทางเอาไว้ในที่ทำงานแห่งนี้ ด้วยการพยายามทำทุกวิถีทางที่จะดันให้ทายาทของตัวเองสามารถช่วงชิงตำแหน่งเก้าอี้นักบัญชีที่มีผู้สนใจสมัครกันเป็นจำนวนหลักพันให้จงได้
หนังใช้เรื่องราวของ Giovanni มาตีแผ่เบื้องหลังการทำงานของหน่วยราชการในอิตาลี ที่โต๊ะทำงานของพนักงานแต่ละรายล้วนพะเนินเทินทึกไปด้วยกองเอกสารจากงานที่คั่งค้างซึ่งตั้งกองเอาไว้จนสูงท่วมหัว แถมตัวเจ้านายเองก็ดูจะห่วงกับปริมาณรังแคบนหนังศีรษะมากกว่าจะใส่ใจกับภาระงานตรงหน้า แต่ที่แสบเสียยิ่งกว่าก็คงเป็นการแฉถึงกระบวนการในการใช้เส้นใช้สายที่อาศัยความสนิทชิดใกล้มาเป็นเครื่องมือในการลำเลิกความเห็นใจจากผู้มีอำนาจทั้งหลายโดยไม่แคร์ถึงความยุติธรรม และแน่นอนว่าการจงใจลำเอียงช่วยเหลือกันเช่นนี้คงมิใช่สิ่งที่จะทำกันให้เปล่า ๆ ได้ คุณพ่อ Giovanni จึงจำใจต้องละศักดิ์ศรีของตัวเองทิ้งไป ยอมทำทุกอย่างเพื่อให้ลูกชายของตัวเองได้มีอนาคตที่มั่นคง ณ สำนักงานแห่งนี้ แต่หลังจากที่หนังกัดแขวะการทำงานในระบบราชการของอิตาลีกันจนหนำใจ ก็จะถึงเวลา surprise ด้วยพลิกเรื่องราวไปสู่โหมดสะเทือนขวัญกันแบบไม่ทันตั้งตัว ด้วยการนำเสนอบุคลิกในอีกมุมด้านของ Giovanni ที่ถูกสถานการณ์บีบคั้นให้ต้องแสดงอารมณ์เบื้องลึกบางอย่างออกมา ซึ่งก็ต้องขอเชิญชวนให้ได้ลองติดตามกันด้วยตาตัวเองว่าเนื้อหาของมันจะพัฒนาจนเลยพ้นจากความคาดหมายได้ถึงขนาดไหน! หนังเรื่องนี้ได้เข้าชิงรางวัลปาล์มทองคำจากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ประจำปี ค.ศ. 1977

THE MARQUIS OF GRILLO (1981)



หนังตลกย้อนยุคที่อ้างอิงจากชีวประวัติที่เล่าขานกันมาของขุนนาง Onofrio del Grillo ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 โดยมี Alberto Sordi รับบทเป็นขุนนาง Marquis del Grillo จอมทะเล้นที่เห็นทุกอย่างเป็นเรื่องเล่นไม่เว้นแม้กระทั่งการปั่นหัวพระสันตะปาปา ขุนนาง Marquis del Grillo เป็นชายที่มีพร้อมทั้งสมบัติพัสถานและอำนาจสั่งการ แต่วัน ๆ เขากลับมุ่งหาความสำราญแกล้งคนโน้นแกล้งคนนี้โดยไม่เคยมีกะจิตกะใจจะดูแลราษฎร ความกะล่อนแบบไม่เกรงใจใครของ Marquis del Grillo อาจทำให้หลาย ๆ คนไม่ชอบขี้หน้า แต่เขาก็สามารถทำตัวเป็นพ่อปลาไหลเลื้อยมาเลื้อยไปจนใคร ๆ ก็จับไม่ได้ไล่ไม่ทันเลยสักที ชนิดถ้าได้เจอกับคุณพี่ ‘ศรีธญชัย’ ก็คงจะควงแขนไปวัดไปวาด้วยกันได้ ค่าที่ต่างก็หัวหมอและช่างฉ้อในระดับพอ ๆ กัน
The Marquis of Grillo อาจเป็นหนังที่ สนุก ครื้นเครง โกลาหล และอลเวง ได้มากที่สุดเรื่องหนึ่งของ Monicelli เพราะดูเหมือนครั้งนี้เขาจะเปิดโอกาสให้ผู้ชมสำราญกับเรื่องราวอย่างเต็มที่โดยไม่มีเรื่องหนัก ๆ ให้ต้องเสียจังหวะความฮา แต่สุดท้ายเนื้อหาของมันก็ยังอุตส่าห์สะท้อนสัจธรรมได้ประการหนึ่งว่า ลักษณะของการเป็นผู้นำที่ประสบความสำเร็จได้นั้นบางครั้งอาจไม่จำเป็นต้องอาศัยคุณธรรมจริยธรรม เพียงสามารถทำตัวกะล่อนยอกย้อนปลิ้นปล้อนเล่นละครจนมะกอกร้อยตะกร้าก็ปาไม่ถูกเท่านั้น ก็คงไม่มีวันที่ใครจะทำอะไรได้ตราบใดที่พวกเขาฉลาดพอ ดั่งที่จะเห็นจากกรณีของพ่อขุนนาง Marquis of Grillo รายนี้เป็นต้น หนังเรื่องนี้ได้เข้าร่วมประกวดที่เทศกาลภาพยนตร์เมืองเบอร์ลินและคว้ารางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมเป็นครั้งที่สามจากเวทีนี้แก่ Monicelli หลังจากที่ Like Father, Like Son (1957) กับ Caro Michele (1976) เคยทำสำเร็จมาก่อนแล้ว

สำหรับภาพยนตร์อีก 3 เรื่องที่เหลือที่ฉายในโปรแกรมนี้ บางเรื่องนี่ต้องขอเตือนไว้เลยว่าอาจยังไม่สามารถหาดูในรูปแบบ DVD หรือ VDO ที่มีคำบรรยายภาษาใด ๆ ได้ เพราะฉะนั้นหากคุณผู้อ่านสนใจจะชมเรื่องไหนก็ขอให้รีบติดต่อสำรองที่นั่งกันที่ moviemovitalfilm2011@gmail.com อย่างเร็วไว เพราะของดี ๆ ฟรี ๆ แบบนี้มีหรือที่ใคร ๆ จะไม่อยากดู!

ติดตามรายละเอียดโปรแกรมเทศกาล MOVIEMOV ทั้งหมดได้ที่
http://www.thaitch.org/news/moviemov-bangkok-italian-film-festival-2011


First Read ตัวแทนบทละครสร้างสรรค์ร่วมสมัยไทย



“บทละครหลากสี มีดีที่หลากหลาย”
อาจไม่ใช่ครั้งแรกกับการที่มีหนังสือรวมบทละครไทย แต่แน่นอนว่าคนหวังกำไรคงไม่ทำธุรกิจละครเวทีอิสระ หรือโดยเฉพาะอย่างยิ่งหวังรวยด้วยการทำหนังสือเกี่ยวกับละครเวที

นี่คือหนังสือรวมบทความแนะนำการอ่านบทละครเชิงวิเคราะห์ ในเล่มมีบทละครคัดสรร 4 เรื่อง จากผลงานละครจากเทศกาลละครกรุงเทพ 2553 พิมพ์ด้วยการสนับสนุนของสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม

บรรณาธิการ อภิรักษ์ ชัยปัญหา
นักเขียน ปานรัตน กริชชาญชัย และ ณัฐพัชญ์ วงษ์เหรียญทอง (พฤษภาคม 2554) พิมพ์แค่ 700 เล่ม
เร็ว ๆ นี้คิดว่าคงจะมีวางจำหน่ายในแวดวงเล็ก ๆของคนละคร

เปิดงานแถลงข่าวไปแล้วที่ ห้องสมุดวิลเลียม วอร์เรน จิม ธอมป์สัน อบอุ่นด้วยกำลังใจจากคนละครคับคั่ง
อย่าลืมช่วยอุดหนุนให้ละครเวทีอินดี้อยู่รอดด้วยจ้า
ไม่ว่าคุณจะเป็น บี-ฟลอร์ หน้ากากเปลือย หรือ Democrazy Theatre เราไม่เลือกที่รัก มักที่ชัง และชาติต้องการคุณ