Budd Boetticher กับอาณาจักรหนังคาวบอย
คงทำนองเดียวกันมั้งกับการที่หนังประเภท talk of the town ไม่มีตัวตนมากนักในสมัยนี้ เพราะบรรยากาศการแบกร่างไปดูหนังโรงนั้นหมดสภาพการเป็นวาระสำคัญของครอบครัวไปซะแล้ว ฉันใดฉันโน้นอิทธิพลส่งต่อระหว่างหนังคาวบอย-หนังจีนกำลังภายใน-หนังซามูไร ก็เกือบจะสูญพันธุ์ไปสิ้น (เว้นแต่จะนับรวม Sukiyaki Western Django ของ Takashi Miike) ใช่แล้ว เมื่อก่อนหนังคาวบอยที่เคยแพร่เชื้อไปถึงญี่ปุ่น (มีพระเอกหนังคาวบอยญี่ปุ่นที่เมืองสยามเคยรู้จักดีในฉายา
“ไอ้โย”- Joe Shishido – แต่ฝรั่งรู้จักเขาจาก
Branded to Kill 
ของผู้กำกับ
Seijun Suzuki) หนังคาวบอยรัสเซีย, คาวบอยเยอรมัน (หนังที่สร้างจากนิยายของนักเขียนเมืองเบียร์ Karl May) คาวบอยสเปน, เม็กซิกัน, อิตาเลี่ยนสปาเก็ตตี้ รวมทั้งของไทยเอง ตอนนี้มันแค่กลายเป็นภาพ nostalgia แบบยาลูกกลอน (ลูกกวาด) “ฟ้าทะลายโจร” ไปซะแล้ว
ว่าไปแล้วหนังคาวบอยนั้นบอกอะไรได้หลายอย่างถึงสังคมอเมริกันทั้งเมื่อบัดนั้นและบัดนี้ ตั้งแต่อุปนิสัยคนถึงการวางระบบระเบียบ ยิ่งพูดถึงที่มาที่ไปของหนังอเมริกันโดยทั่วไปทุกรูปแนวนั้นยิ่งแล้วใหญ่ ดูท่าจะฝังรากลึกมากกว่าที่เราคิดซะอีก อันนี้เพิ่งประจักษ์กับตัวเองก็ตอนที่ได้ดูมันมากขึ้นนี่แหละ

+1959+zzz.jpg)
กล่าวโดยรวบรัด หนังคาวบอยรวบย่อภาพการก่อตั้งชาติอายุน้อย การบุกเบิกดินแดนใหม่ที่รอคอยการถากถางตั้งรกราก การนำมาซึ่งความเจริญวิไลลาศ (บ่อยครั้งในภาพของรถไฟและกฎหมาย) แสดงภาพอุดมคติของการบ่มฟักตัวตน แสดงสัมพันธ์สำคัญระหว่างชุมชนกับปัจเจก บอกศรัทธาความเชื่อมั่น / ความผิดหวังที่มีต่อศาสนา สถาบันการศึกษา สถาบันครอบครัว สถาบันการปกครอง การปฏิรูปกฎหมาย อำนาจในความชอบธรรมต่อทิศทางที่สุ่มเสี่ยง
ในอีกด้านหนึ่ง การเดินทางหาที่รอนแรมใจอันไม่สิ้นในจุดหมาย จากทิศตะวันตกสู่ตะวันออก ภูมิประเทศซึ่งเชิญชวนต่อการค้นหาตัวเอง การหลีกหนีจากอดีตร้อนสู่ความหวังบันดาลใจ พุ่งไปสู่ความเป็นวิเวกชนหรือสมถะแห่งตัวตน โน้มเอียงต่อความเรียบง่ายของชีวิตในการกลมกลืนสู่ธรรมชาติ (อุดมคติของวอลเดน?) ต่างตอกย้ำภาพของอเมริกันชนอย่างลู่เรียงถึงโคนคอก สืบเนื่องถึง genre แนวหนังอีกแบบที่เรียกกันว่า
Road Movie หรือ
“หนังเดินทาง” อันขยายขอบเขตไปได้กว้างขวางยิ่ง มากกว่าแค่เปลี่ยนจาก “ม้า” มาเป็น “รถยนต์”
โลกของศิลปะอาจไม่มีมาตรฐานชั่งตวงวัดที่ชี้ชัดคุณค่าได้ก็จริง แต่หากคนทำหนังหรือคนเขียนหนังสือสามารถตั้งต้น ณ จุดที่เท่าเทียมกันได้ (ตามลักษณะวัตถุดิบที่เท่าเทียมกัน) คงสนุกไม่หยอก หากพวกเขาต่างวัดเชิงในแนวด้วยกัน นั่นคือหนังคาวบอย และนิยายกำลังภายใน (หรือรวม Road Movie ด้วยก็ได้) เท่านี้เอง เราก็จะได้เห็นว่า ศิลปินแต่ละคน แต่ละหนทางมีวิชาพิสดารใดที่จะดิ้นพลิกแพลงรูปแบบและข้อจำกัด (ทั้งด้านการคาดหวังของผู้รับสารและชนิดของสินค้า) เพื่อบ่งบอกมุมมองความคิดเฉพาะบุคคล

เมื่อพูดถึงหนังคาวบอยกับหนังจีนกำลังภายในซึ่งเคยมีบทบาททาบทับเด่นชัดที่สุด นอกจาก
โกวเล้ง จะได้ไอเดียหนังคาวบอยมาตัดต่อพันธุกรรมแล้ว จะว่าไป โกวเล้ง นี่ก็อาจจะเทียบกับหนังคาวบอยของ
Howard Hawks ได้เหมือนกันนะ เพราะชอบพูดเรื่องมิตรภาพแบบแมนแมน และความรับผิดชอบในหน้าที่คล้ายกัน ต่างกันอยู่บ้างตรงที่โกวเล้งจะอ่อนไหววูบวาบกว่า สำมะเลเทเมา และมักหลงทางกับภาพอุดมคติของผู้หญิงมากกว่า เทียบกันแล้ว
ฮาวเวิร์ด ฮอวค์ส ไม่อ้อยอิ่งกับผู้หญิงได้นานเท่า ด้วยเห็นหน้าที่และการประชันขันแข่งมาก่อนเสมอ ความกันเองระหว่างก๊วนผู้ชายเป็นด่านนำหน้าของหนังฮอวค์ส หากหญิงใดอยากแจม เธอต้องฝึกฝนตัวเองให้รู้จักแกร่งขึ้น เลือดเย็นขึ้น ไม่เรียกร้องจากชาติไอ้เสือมากไปกว่าที่เป็น แต่ก็มีแอบหัดต่อปากต่อคำจนเอาหนุ่ม ๆ ซะอยู่หมัด สุดท้ายพวกผู้ชายน่ะแหละที่ต้องปล่อยไก่ออกมาบ้าง (ตรงนี้เป็นมุมสนุกแบบ ฮอวค์ส ที่ชอบให้กลุ่มพระเอกอย่าง John Wayne, Robert Mitchum, หรือ James Caan มีเรื่องเป๋อเปิ่นให้ได้อายเป็นระยะ ตั้งแต่คะมำเข้าเม่า หรือนุ่งกระโปรง)

ถ้าเปรียบ Howard Hawks กับ โกวเล้ง แล้ว อย่างนี้จะเอาใครเป็น กิมย้ง ดี ก็ใครซะอีกล่ะ ถ้าไม่ใช่
John Ford เจ้าของวลีทอง “I make Westerns” งานของ 2 รายนี้มีลักษณะเอพิคเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ เรื่องเล่า หรือตำนานของ The Old West อยู่บ่อยครั้ง เรียกได้ว่าเนื้อหาในเรื่องมีขึ้นเพื่อเป็นนิยายกำลังภายใน หรือ หนังคาวบอยอย่างแท้จริง ต่างจากหนังของ ฮาวเวิร์ด ฮอวค์ส ที่อาจมองได้ว่าเป็นหนังเฮฮาสามเกลอในแบบซ่อนรูป ซึ่งท่อม ๆ ไปอาศัยแอบอิงกับหนังคาวบอยบ้าง (Rio Bravo, El Dorado) ฟิล์มนัวร์บ้าง (The Big Sleep) แก็งสเตอร์ (Scarface) หนังเพลง (Gentlemen prefer Blondes) หนังตลกสกรูว์บอล (Ball of Fire, Monkey Business, Man’s Favorite Sport)

ด้วยว่า
จอห์น ฟอร์ด กับ
กิมย้ง นั้นเป็นรุ่นเก๋าและหมกมุ่นกับการจำลองอดีตเรืองรองขึ้นมาใหม่ ในแง่หนึ่งพวกเขาก็ดูจะมีแนวโน้มที่จะสะเทือนใจจากผลแปรของประวัติศาสตร์มากกว่าคนรุ่นหลังที่แค่เลือกใช้ genre แนวกำลังภายใน / คาวบอยเป็นที่ออกกำลังกายชั่วคราวตามบุคลิกของตัวเอง พูดให้ตรงคือเรื่องเล่าของสองสิงห์เฒ่าผูก “เรื่อง” เข้ากับ “เนื้อหา” และ “สไตล์” จนแยกกันไม่ออก ไม่ใช่แค่ยืมใช้สองอย่างหลังเพื่อทำหนังอิงหนัง หรือเขียนนิยายอิงแนวกำลังภายในอย่างที่ปัจจุบันนิยมกัน
ลีลาสองผู้เฒ่าก็มักจะทื่อ ๆ เยิ่นยาว ไม่ค่อยสั้นกระชับสักเท่าใด บางทีก็สาธยายเรื่องชาวฮั่น ราชวงศ์มองโกล หรือนั่งทำตลกดูถูกคนอินเดียนหรือไพร่ทหาร แล้วตั้งวงร้องเพลงไอริชเชย ๆ เสียเยิ่นยาว ถ้าเป็น ฮาวเวิร์ด ฮอวค์ส กับ โกวเล้ง นะ เล่นพูดคำคมเสร็จ พ่อก็ตัดขาดเลยฉับ ฉับ ฉับไปแล้ว ไม่ต้องมาอนุรักษ์ยึดที่มาที่ไปทางปูมหลังอะไรมาก (อย่างเก่งก็ให้ Dean Martin และ Ricky Nelson มาโชว์เพลงหน่อย เดี๋ยวคนดูจะลืมว่าพวกนี้เป็นนักร้อง)

ถึงอย่างนั้นก็ใช่ว่า จอห์น ฟอร์ด จะซื่อตรงกับประวัติศาสตร์และตำนานคาวบอยเสมอไป เพราะพ่ออยากถ่ายที่ไหนก็ถ่าย โมนูเมนท์แวลลี่สวยก็ชอบถ่ายบ่อย ไม่ได้จำกัดว่าต้องถ่ายต้องตรงตามสถานที่จริง แถมเวลาทำถ่ายอินเดียนก็ชอบมั่วเผ่าพันธุ์แล้วยังจับดาราคนขาวมาทาสีดำ ๆ แสดงแทนเสียอีก แต่มาสมัยหลัง ๆ หนังคาวบอย จอห์น ฟอร์ด แบบ
The Searchers หรือ
The Man Who Shot Liberty Valance ยึดตำนานเชิงอุดมคติน้อยลง ดูแลความรู้สึกคนกลุ่มน้อยดีขึ้น มุมมองโรแมนติกของผู้ครอบครองเปลี่ยนไปในเชิงกึ่งขมขื่น ไม่มีสายตาเยี่ยงวีรบุรุษอีกต่อไป
+zz.jpg)
ยุคหนึ่ง อึ้งเอ้ง เคยเป็นนักเขียนแนวกำลังภายในที่มาแรงมากเพราะ “กระบี่ไร้เทียมทาน” และพยัคฆ์ลำพองนั้นมีฉากบู๊สุดมันส์ บางที
Anthony Mann กับ
Sam Peckinpah อาจจะถูไถยัดโจทย์นี้ได้บ้างหรอก เพราะต่างดุเดือดได้ที่กันทั้งคู่ เหมาเอาแบบรวบยอดคือ แอนโธนี่ แมนน์ นั้นเก่งในการจองเวรแบบโศกนาฏกรรมกรีก ส่วน แซม เพ็คคินพาห์ นั้นเล่าก็เอกอุในยอดวีรกรรมครั้งสุดท้ายของพวกขี้แพ้หรือคนที่ถูกมองเป็นเดนสังคม นี่ก็ไม่ได้ติดตามนิยายจีนรุ่นใหม่ ๆ อย่าง หวงอิง เสี่ยวฟาง หรืออะไร เลยไม่รู้ว่าไปถึงไหนกันบ้าง เห็นว่าโยงกันไปถึงแนวไซ-ไฟไปโน่นแล้วสิ
ว่าจะเขียนหนัง
Budd Boetticher แต่ทำไมนอกเรื่องไปโน่น คราวใน Filmax ก็ที มั่วเอาโหวเสี้ยวเสียน กับ เอ็ดเวิร์ด หยาง ไปปะกับ กิมย้ง และ โกวเล้ง มาทีนึงแล้ว นี่ละ(คุณ)น้า สุดท้ายก็ไม่พ้นมุกเก่า ๆ

ว่าไปแล้วดูเหมือนว่ายังไม่เคยมีคนไทยเคยเขียนถึงหนังคาวบอยของ Budd Boetticher เลย เพราะโคตระหาดูยาก นี่คิด ๆ ดูข้าพเจ้าไม่เคยดูหนังเขาบนจอใหญ่เลยสักเรื่อง พวกหนังจอห์น ฟอร์ด หนัง Shane หนัง ฮอว์คส์ ก็เคยดูจอใหญ่บ้างแต่หมอ Budd นี่ไม่เคยเลย แสวงหามาหลายปีเพิ่งได้ดู 7 เรื่อง ขนาดป๋า
Clint Eastwood, Robert Towne กับหนู
Quentin Tarantino ชมกันนักหนา กลับเพิ่งมีแผ่นพากย์ไทย / บรรยายไทยแค่เรื่องเดียว คือเรื่อง
The Man from Alamo(ต่อตอน 2 -
บั๊ด เบ็ตติเคอร์)