12/13/10
When Our Apichatpong Weerasethakul plant a Bomb
ในเล่มมีสัมภาษณ์ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล และวางรูปลิงผีจาก Uncle Boonmee เสียเต็ม 2 หน้าใหญ่ ๆ ส่งนาย Lawrence Chua มาสัมภาษณ์ถึงเมืองไทย
ดูเนื้อหาที่ http://bombsite.com/issues/999/articles/3376
เมื่อก่อนเคยซื้อนิตยสาร Bomb มันไม่ใช่หนังสือหนัง แต่รวมศิลปะทุกรูปแบบ และเป็นนิตยสารที่ดีที่สุดเล่มหนึ่งของอเมริกาก็ว่าได้ (อาจจะดีกว่า Artforum ด้วยซ้ำ) มีตั้งแต่วรรณกรรม ละครเวที นาฏศิลป์ ดนตรี ไฟน์อาร์ต และทัศนศิลป์ทุกชนิด รวมทั้งหนัง
เล่มก่อน ๆ ที่ซื้อไว้มีลงสัมภาษณ์นักเขียนอย่าง Jeanette Winterson กับ Haruki Murakami ใครอ่าน Bookvirus เล่ม 2 คงพอคุ้น ๆ
12/12/10
Bad Lieutenant: Port of Call New Orleans
คนดีที่แสนเลว
โดย ทินพัฒน์ บัญญัติปิยพจน์
นานเท่าไหร่แล้วที่คุณไม่ได้เห็นหนังดีๆ ของ นิโคลาส เคจ?
หลังได้รับรางวัลออสการ์ ดูเหมือนเคจจะผันตัวมาเป็นพระเอกหนังแอ็คชั่นอย่างต่อเนื่องจริงจัง (อาจเพราะเขาต้องใช้เงินเยอะ) หลายคนชอบ The Rock หลายคนอาจอึ้งๆไปกับ Con Air, Windtalker หรือ Gone in 60 Seconds คุณอาจใจชื้นขึ้นมาบ้างกับ Adaptation แต่เขาก็กลับมาอีกกับหนังประเภท Bangkok Dangerous, Next หรือ National Treasure ตัวผมเองเป็นแฟนเคจครับ โดยเฉพาะในยุคก่อน The Rock หนังหลายเรื่องที่เขาเล่นเป็นหนังที่ผมรัก ไม่ว่าจะเป็น Wild at Heart, Raising Arizona, Leaving for Vegas หรือ Leaving Las Vegas แต่หนังระยะหลังๆ ของเขามักทำให้ผมอกหัก และพลอยทำให้ความชื่นชมในตัวเขาลดลงไปไม่น้อย
ครั้งนี้ เคจ กลับมากับ Bad Lieutenant: Port of Call New Orleans (ชื่อไทยบนปก DVD - เกียรติยศคนโฉดถล่มเมืองโหด) หนังที่มีรูปลักษณ์ภายนอกซ้ำๆ คล้ายๆหนังตำรวจจับผู้ร้ายน่าเบื่อเรื่องหนึ่ง แถมยังเป็นงานรีเมคเสียด้วย โปสเตอร์ของมันดูไม่ดึงดูดใจเอาซะเลย และผมคงไม่ถ่อเข้าไปดูมันถึงเอ็มโพเรียมแน่ๆ ถ้ามันไม่มีชื่อของ แวร์เนอร์ แฮร์โซก (Werner Herzog) ผู้กำกับที่ดูยังไงก็ไม่เข้าทางกับหน้าหนังซักนิดแปะอยู่ ผลลัพธ์ของการรีเมคหนังฮอลลีวู้ดในมือผู้กำกับเยอรมันผู้เป็นดั่งตำนานเดินดินท่านนี้ก็คือ หนังฟิล์มนัวร์ที่เมามากๆ เรื่องหนึ่ง กับบทบาทของเคจที่น่าจะถูกจดจำไปอีกนาน
เคจ รับบท เทอเรนซ์ นายตำรวจนักสืบมือดี ผู้เมายาทุกชนิดในทุกขณะจิต ในเกือบทุกสถานการณ์ตลอดเรื่อง ฟังดูคล้ายบทที่ทำให้เขาได้รับออสการ์ใน Leaving Las Vegas แต่ไม่นะครับ ผมคิดว่าบทของเขาในเรื่องนี้ดูมีมิติกว่า มีรายละเอียดที่น่าสนใจมากกว่า และเป็นชีวิตที่ดำมืดยิ่งกว่า
หนังเปิดเรื่องที่เมืองนิวออร์ลีนส์หลังพายุแคทริน่าพัดถล่ม เทอเรนซ์ที่ยังไม่เมาพร้อมกับสตีวี่ (วาล คิลเมอร์) เข้าไปเก็บของให้เพื่อนในโรงพัก และพบว่ายังมีนักโทษหลงอยู่ในคุกที่กำลังน้ำท่วมสูงขึ้นเรื่อยๆอีกคนหนึ่ง สิ่งที่ทั้งสองทำคือ พนันกันว่าน้ำจะท่วมมิดหัวนักโทษในเวลาไหน นักโทษวิงวอนให้พวกเขาช่วย แต่เทอเรนซ์ห่วงแค่ว่ากางเกงในราคา 55 เหรียญของเขาจะเลอะถ้าลงไปช่วย ไม่รู้ว่าเขาเปลี่ยนใจเพราะนักโทษยกมือขึ้นกราบกรานพระเจ้า หรือแค่เพราะเขาพูดเล่นตั้งแต่แรก เทอเรนซ์โดดลงน้ำไปช่วยนักโทษคนนั้น ผลที่ตามมาจากเหตุการณ์นี้คือ 1. เขาได้รับรางวัลตำรวจดีเด่น และเลื่อนยศขึ้นเป็นร้อยโท 2. กระดูกสันหลังของเทอเรนซ์เสียหายจนต้องพึ่งยาไปตลอดชีวิต และอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เขาเสพยาเสพย์ติดเพื่อลดอาการปวดหลัง (เราไม่อาจแน่ใจได้ว่าเขาติดยามาก่อนหน้านี้หรือไม่) นับเป็นท่อนเปิดเรื่องที่ได้ใจเกินกว่าจะเป็นเพียงหนังตำรวจน่าเบื่ออีกเรื่องหนึ่ง
เทอเรนซ์เป็นนักสืบที่มีไหวพริบปฏิภาณชั้นเลิศ แต่ในแง่ความเป็นตำรวจที่ดีแล้ว เขาน่าสงสัยเป็นที่สุด ด้านชีวิตส่วนตัว เขามีพ่อขี้เมาที่พยายามจะเลิกเมา แม่เลี้ยงก็ขี้เมา ตัวเขาเองเมาไม่เคยหยุด เมาจนเห็นภาพหลอน ดูเหมือนแง่งามเดียวในชีวิตเทอเรนซ์ก็คือ คนรักผู้เป็นโสเภณีไฮโซ(ซึ่งก็ขี้เมาอีกเช่นกัน) เขาพยายามทุกวิถีทาง ไม่ว่าจะด้วยการขโมย ข่มขู่ รีดไถ เพื่อให้ได้ยามาปรนเปรอตนเองและคนรัก เทอเรนซ์ยังเป็นนักพนันอเมริกันฟุตบอลตัวยง ที่แทงไม่ค่อยจะถูกฝั่งเท่าไหร่ ชีวิตของเขาจมดิ่งลงเรื่อยๆ ยิ่งเมื่อมาเจอปัญหากับลูกชายของผู้มีอิทธิพลคับเมือง(ตัวละครตัวนี้ฮามาก) ปัญหาต่างๆก็ยิ่งงวดเข้า เขาโดนยึดปืน ย้ายแผนก ยาหายากขึ้นทุกวัน หนี้พนันท่วมหัว มาเฟียอิตาเลี่ยนตามล่าจนต้องเตลิดหนี คดีที่หวังคลี่คลายยังเดินมาถึงทางตัน ในที่สุดเขาตัดสินใจเสนอตัวเป็นสายให้นักค้ายารายใหญ่ที่เขาเคยพยายามจับมันนั่นเอง
ภายใต้โครงสร้างแบบฟิล์มนัวร์ฮอลลีวู้ด Bad Lieutenant มีบทที่ถูกเขียนขึ้นมาอย่างประณีต เมื่อผสมผสานเข้ากับลีลาการกำกับของ เวอร์เนอร์ แฮร์โซก และฝีมือการเมาของเคจแล้ว มันจึงเป็นหนังที่กลมกล่อมลงตัวอย่างยิ่ง แฮร์โซก ถ่ายทอดนิวออร์ลีนส์หลังพายุถล่มออกมาอย่างมืดหม่น ตัวละครทุกตัวล้วนเป็นสีเทา ไม่มีตัวละครแบบขาวจัด ดำจัด ละทิ้งฉากบู๊เอามัน หันมาเน้นอารมณ์บรรยากาศแห่งความเมาสุดขั้ว และการหลงผิดอยู่ในความมืดมัวของตัวละครแทน หากหนังเรื่องนี้อยู่ในมือผู้กำกับอื่น มันอาจจบลงอย่างสวยหรูและแสนสุขก็เป็นได้ แต่ แฮร์โซก ทำให้ Bad Lieutenant กลายเป็นหนังที่เมาที่สุดในรอบหลายปี มันมีกลิ่นเฉพาะตัวที่มีแต่ผู้กำกับมือทองเท่านั้นถึงจะทำได้ มันสนุก มันฮา มันมีความหวังอยู่เล็กๆ แต่มันก็มืดหม่น และแสนเศร้า เส้นแบ่งบางๆระหว่างความดีเลวขาดออกจากกัน เทอเรนซ์นั้นเป็นคนที่น่าเห็นใจ หากมีความจำเป็นต้องตัดสินว่าเขาดีหรือเลว ผมคงต้องบอกว่า เขาเป็นคนดีที่แสนเลว เป็นแค่คนธรรมดาที่ไล่คว้าหาแสงสว่างอยู่ในโลกมืดๆใบนี้
ไม่บ่อยครั้งนักที่หนังรีเมคเป็นหนังดี ไม่บ่อยอีกเช่นกันที่ดูหนังรอบสองแล้วจะรู้สึกดียิ่งกว่ารอบแรก แต่ Bad Lieutenant เป็นเช่นนั้น ดูจบแล้วทำให้อยากดูหนังต้นฉบับขึ้นมาตะหงิดๆ เพราะผมไม่เชื่อจริงๆ ว่ามันจะดีกว่าหนังรีเมคเรื่องนี้
อยากเห็น แฮร์โซก ทำหนังฮอลลีวู้ดอีกครับ
* ต้นฉบับ Bad Lieutenant กำกับโดย อเบล เฟอร์ราร่า นำแสดงโดย ฮาร์วี่ ไคเทล เป็นหนึ่งในหนังเรื่องโปรดของ มาร์ติน สกอร์เซซี่ (The Departed, Goodfellas, Taxi Driver, Cape Fear, Shutter Island)
สุภาพบุรุษ แบบ Howard Hawks
นี่ใกล้เคียงที่สุดแล้วกับการที่ Howard Hawks ทำหนัง “เที่ยวบินกลางคืน” ของ อังตวน แซงเต็กซูเปรี
Only Angels Have Wings นี่คงเป็นหนึ่งในต้นแบบหนังฮอลลีวู้ดที่ใคร ๆ อยากใฝ่ฝันจะไปให้ถึง
Howard Hawks ชื่อที่มอบความหมายที่เหมาะสมสุดๆ สำหรับคำว่า Entertainment
Howard Hawks คนทำหนังคนเดียวที่ผมรับประทานได้เช้าเย็น
สำหรับผม Howard Hawks ไม่เคยทำหนังห่วย
เขาทำหนังได้ทุกแนว ทั้งคาวบอย ฟิล์มนัวร์ นักสืบ ตลกสกรูว์บอล ผจญป่าซาฟารี หนังเพลง หนังเอพิคประวัติศาสตร์อียิปต์ ทุกเรื่องมีอารมณ์ขัน มีบทต่อปากต่อคำระหว่างพระนาง รวมทั้งบทนางเอกที่ฉลาดทันผู้ชาย ซึ่งถือว่าทันสมัยมากในสมัยนั้น หากลองเปรียบกับผู้หญิงในหนังของ John Ford
Monkey Business คือหนึ่งในหนังที่พล็อตติงต็อง แต่สนุกยิ่งนัก สำหรับผม
12/9/10
เรื่องสั้น ‘หม้อแกงบวน’จาก รวมเรื่องสั้นสุภาพบุรุษ
ขุนอารี “ไม่แปลกสำหรับสิทธิและธรรมชาติ แต่ยังขัดข้องอยู่สำหรับสมัยและสมาคม เมืองเราธรรมญาณมียังไม่พอ จึงยังไม่ถึงกาละเทศะ เรียนรวมกันเช่นนี้ นักเรียนผู้ชายจะตื่นเต้นเกินไป นักเรียนผู้หญิงจะมีจริตวิการแปลก ๆ มากขึ้น ถึงในประเทศที่ศิวิไลส์ มหาวิทยาลัยมีชื่อบางแห่งก็ไม่มีการเรียนปนกันเลย เขาถือว่าจะเรียนได้ดีมาก เพราะเหตุที่จะเกิดความฝันแปลก ๆ มาแทรกระหว่างการเรียนทั้งสองเพศมีน้อยเข้า”
บางส่วนจากเรื่องสั้น ‘หม้อแกงบวน’
ประพันธ์ โดย ขุนอารี, 2472
จากหนังสือ ‘เพื่อนพ้องแห่งวันวาร : เรื่องสั้นสุภาพบุรุษ’
ชำระต้นฉบับโดย วรรณา สวัสดิ์ศรี และ บรรณาธิการโดย สุชาติ สวัสดิ์ศรี
นี่คือหนังสือรวบรวมผลงาน เรื่องสั้นสุภาพบุรุษ ในยุคเริ่มแรกสมัยนักเขียนเลือดใหม่ไฟแรงที่รวมตัวกันทำนิตยสารชุดสุภาพบุรุษ เมื่อราว 80 ปีก่อน เช่น ศรีบูรพา, ฮิวเมอร์ริสต์, มจ. อากาศดำเกิง และ ยาขอบ
ผลงานที่ล้วนหาอ่านไม่ได้ที่ไหนอีกแล้วในโลก แม้แต่ในหอสมุดแห่งชาติเองก็ตาม!
หนังสือคิงคองไซ้ส์ ปกแข็ง, จำนวน 1120 หน้า, พิมพ์จำนวนจำกัด 1,000 เล่ม (หนึ่งพันเล่ม) เท่านั้น
แต่ราคาจำหน่ายในงานชุมนุมช่างวรรณกรรมเพียง 800 บาท (ราคาเต็มคือ หนึ่งพันบาท) และที่สำคัญที่สุดคือไม่มีวางขายตามร้านค้าทั่วไป ฉะนั้น อย่าเสียเวลาไปหาเสียให้ยากเปล่า ๆ เปลี้ย ๆ
คนรักวรรณกรรมตัวจริงขอจงอย่านิ่งนอนใจ
(ในภาพประกอบ ด้านซ้ายคือ ช่อการะเกด 54 ส่วนด้านขวาหนังสือเล่มสีแดงปกแข็งเล่มโข่ง คือเจ้าของคดี ‘เพื่อนพ้องแห่งวันวาร : เรื่องสั้นสุภาพบุรุษ’)
12/4/10
โปรแกรมภาพยนตร์ Filmvirus ที่หอศิลป์ จามจุรี ในงาน Art Square 8
Art Square 8 & Filmvirus
Black & White Like Day and Night
ฉายกลางแปลงข้างหอศิลป์จามจุรี (ใกล้มาบุญครอง) - เริ่มเวลา 6 pm
14 ธันวาคม 2553
Avida “โลกอ้วนคนต๊อง”
กำกับโดย Gustave de Kervern, Benot Delpine
ร่วมแสดงโดยยอดผู้กำกับหนังระทึกจิตชาวฝรั่งเศส Claude Chabrol และผู้กำกับละครเวที (และคนทำหนังหัวหอก) ของกลุ่ม Panic Movement คือ Fernando Arrabal
Haxan “ประวัติศาสตร์แม่มด”
กำกับโดย Benjamin Christensen
Vampyr “แวมไพร์สยองไม่ต้องใช้เสียง”
โดยผู้กำกับระดับตำนาน Carl Dreyer
15 ธันวาคม 2553
College “ทิ้งเรียนไปจับสาวแอโรบิค”
หนังตลกนำแสดง – ร่วมกำกับโดย Buster Keaton
Sherlock, Jr. “หนุ่มนักฉายหนังหัวใจเชอร์ล็อค โฮล์มส์”
นำแสดงและกำกับโดย Buster Keaton
The Cameraman “กดชัตเตอร์สะกิดรัก”
นำแสดง – ร่วมกำกับโดย Buster Keaton
16 ธันวาคม 2553
The Goddess “มารดรกลางวัน โสภากลางคืน” (Shen nu)
หนังจีนกำกับโดย Yonggang Wu
Mr.Thank You “รถเมล์หัวใจ”
หนังญี่ปุ่นกำกับโดย Hiroshi Shimizu
The Masseurs and a Woman “หมอนวดบอดตรึงใจนาง”
หนังญี่ปุ่นกำกับโดย Hiroshi Shimizu