10/1/07

Phantom Love เสียงกรีดกร้าวจากรังไข่ของนางมาร

Phantom Love เสียงกรีดกร้าวจากรังไข่ของนางมาร
Nina Menkes in World Film Festival of Bangkok 2007

โดย Filmvirus
filmvirus@gmail.com



บิ๊ก บางกระบือ จาก World Film Festival เข้าใจหาลูกยุให้ filmvirus ทำงานต่อ ทั้ง ๆ ที่บ่นจะร้างลาบทความหนังชิ้นใหม่ ๆ เสียหลายที แต่อุเหม่ นี่ท่านเล่นไปเชิญ Nina Menkes มาให้จนได้ ไอ้เราขอไปก็แค่แหย่เล่น ๆ คิดว่าหาเรื่องฟุ้งเฟื่องให้เจ้าหน้าที่ World Film ปวดขมองเล่น ไม่นึกว่าจะเล่นจริง เอาทั้งหนัง ทั้งตัว Nina Menkes มาโยนโครมถึงบางกอก

เมื่อก่อเรื่องกันไว้ตั้งแต่แรก คราวนี้ก็ต้องตกเป็นหน้าที่ของ ฟิล์มไวรัส ที่ต้องรับกรรม ก้มหน้าก้มตาแนะนำหนัง ให้สาสมกับที่บ้าบอขอไป

ทนแต่งบทความใหม่อีกสักหน ถือเป็นการส่งท้ายให้สวย (เอาใจกันขนาดนี้ก็เฉพาะแต่ Fred Kelemen กับ Nina Menkes หรือ Philippe Grandrieux เท่านั้น ถ้าเป็นคนอื่นครึ่งหน้าก็พอ)

ถัดจากหนังของ Ulrike Ottinger ที่เทศกาลหนัง World Film เมื่อ 2 ปีที่แล้ว สงสัยว่าตำแหน่งราชินีหนังเฮี้ยนในปีนี้ คงต้องเหี้ยนแต้ ตกเป็นของ Nina Menkes แหง ๆ


กำหนดการฉายหนัง Phantom Love ของ Nina Menkes ของ World Film Festival ปีที่ 5:
http://www.worldfilmbkk.com/

Nina Menkes เป็นใครกัน?
หนังสือพิมพ์ลอส แองเจลีส ไทม์ส เคยเรียกเธอว่า เป็น “หนึ่งในศิลปินสาขาภาพยนตร์ที่ใจถึงและพิสดารที่สุด” ส่วนนิตยสาร Sight and Sound แห่งอังกฤษ ก็เรียกงานเธอว่า “อื้อฉาว เข้มข้น น่าตื่นตะลึง”

เธอเป็นนักทำหนังหญิงแสบในระดับสุดซอยอินดี้ ซึ่งได้รับการยอมรับอย่างสูงในวงการมานานกว่า 20 ปี ในเวลาที่ผ่านมา เธอเลือกที่จะทำหนังศิลปะแบบเฉพาะเจาะจงในแบบที่ตัวเองชอบออกมา เพียง 5 เรื่อง เท่านั้น (ไม่นับหนังสั้น) หนำซ้ำเธอยังเป็น 1 ในคนทำหนังอเมริกันเพียงไม่กี่คนในโลกที่ได้สิทธิ์ขาดในการอำนวยการสร้าง เขียนบท กำกับ ตัดต่อ และ ควบคุมงานสร้างทุกกระบวนการด้วยตัวเธอเอง




ในบรรดาคนที่ชื่นชอบเธอก็มีคนทำหนังดังอย่าง Gus Van Sant (Elephant, Gerry, Last Days), Allison Anders (Gas, Food Lodging, Mi Vida Loca) และนักแสดงรางวัลออสการ์อย่าง Benicio del Toro (Traffic, 21 Grams, Sin City)

ทำไมเราจึงไม่เคยได้ยินชื่อเธอ
แม้แต่โรงหนังทั่วไปในอเมริกายังหาคนเคยดูหนังของเธอได้ยากมาก เพราะหนังของเธอไม่มุ่งตลาดในวงกว้าง มักจำกัดการฉายเฉพาะในโรงภาพยนตร์อาร์ตเฮ้าส์ขนาดเล็ก หรือจัดจำหน่ายเป็นวีดีโอราคาแพงหูฉี่ในวงแคบมาก ๆ




ใครให้สตางค์เธอทำหนัง
ไม่ใช่พ่อค้าในสตูดิโอที่จะสนใจอำนวยการสร้างหนังของเธอ คงมีแต่ สถาบันศิลปะอย่าง พิพิธภัณฑ์กักเกนไฮม์, มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ บริษัทภาพยนตร์ในยุโรป เช่น เยอรมนี หรือ ฝรั่งเศส กับเทศกาลหนังใหญ่ ๆ อย่าง โตรอนโต้ หรือ ซันแดนซ์ เท่านั้นที่รักและอุ้มชูเธอ

ผลงานที่ผ่านมาทำเรื่องอะไร
A Soft Warrior (1981 / หนังสั้น), The Great Sadness of Zohara (1983 / หนังสั้น), Magdalena Viraga (1987), Queen of the Diamonds (91), The Bloody Child (1996), Massaker (2005) และล่าสุด Phantom Love (2007)

พื้นเพเธอมาจากไหน
เส้นทางของเธอมีส่วนคล้ายกับ Maya Deren สาวนักทำหนังศิลปะรุ่นบุกเบิกสมัยทศวรรษ 40 อยู่นิดหน่อย คือสนใจด้านการถ่ายภาพ การเต้นรำ และการออกแบบท่าเต้น ตอนแรกเธอถ่ายหนังเกี่ยวกับการเต้นรำเป็นหนัง 8 มม. แต่เครดิตการทำหนังเรื่องนั้นกลับตกเป็นของคนอื่น จากนั้นเธอก็เข้าไปเรียนสาขาภาพยนตร์ที่ UCLA จนเรียนจบ

หนังเธอเกี่ยวกับอะไร


ในหนังสั้นเรื่อง The Great Sadness of Zohara ที่ Nina Menkes ถ่ายทำกันทั้งเรื่องแทบจะลำพังแค่สองคนกับน้องสาวชื่อ Tinka (ซึ่งควบบทนักแสดงนำในหนังหลายเรื่องของ Nina) หนังเรื่องนี้ไปถ่ายกันถึงทะเลทรายในอิสราเอลและโมรอคโค เป็นเรื่องการเดินทางของสาวยิวชื่อ Zohara ที่เดินทางจากอิสราเอลไปยังดินแดนอาหรับ การเดินทางนี้เป็นเหมือนการเดินทางสู่โลกแห่งจิตวิญญาณที่มีภาพและเสียงซึ่งวิปลาส นอกจากเสียงบรรยายจากคัมภีร์ไบเบิ้ล บรรดาเสียงกระซิบ เสียงสวด เสียงตะโกน และเสียงหัวเราะที่ฟังไม่ได้ศัพท์ ซึ่งชวนหลอนแล้ว ส่วนใหญ่หนังของ Menkesจะพูดน้อยมาก ชอบเล่นกับความเงียบและนิ่งงันน่าวิตก (ไม่มีดนตรีประกอบ)


Nina ถ่ายเรื่องนี้แบบไม่มีแม้แต่ขาตั้งกล้อง แต่ทุกครั้งที่มุมกล้องขยับเลื่อนกลับสร้างบรรยากาศที่ยิ่งดูน่าหวาดกลัวเต็มไปด้วยอันตรายมากขึ้นทุกที เรื่องนี้ความยาวแค่ 40 นาที เป็นหนัง 16 มม. ที่ลงทุนไปแค่ 6,000 เหรียญ แต่ได้รางวัล Special Jury Mention ที่เทศกาลหนังซาน ฟรานซิสโก แล้วก็ได้รางวัลที่เทศกาลหนัง Houston Film Festival อีกด้วย


เรื่องถัดมาก็แนวเดียวกัน ?
หนังที่เธอทำส่งอาจารย์ตอนเรียนจบ คือหนังยาว 90 นาทีเรื่อง Magdalena Viraga เรื่องนี้แสดงให้เห็นชีวิตของ ไอด้า หญิงโสเภณีคนหนึ่งที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นฆาตกรฆ่าแมงดาประจำตัวของเธอเอง ดูเผิน ๆ หนังเรื่องนี้อาจมีลักษณะของหนังที่ติดตามคลี่คลายหาฆาตกรตัวจริงอยู่บ้าง แต่ก็เป็นเพียงการอำพรางชนิดหนึ่งเท่านั้น เพราะหนังได้แรงบันดาลใจจากงานเขียนของ Gertrud Stein, Mary Daly และ Anne Sexton หนังให้พลังแก่เสียงด้านมืดของเพศหญิงอย่างเต็มที่ เมื่อ ไอด้าสวดซ้ำไปมา 3 ครั้งว่า "ฉันเป็นแม่มด”


หนังเรื่องนี้ก็ได้รับรางวัลหนังอิสระยอดเยี่ยมแห่งปีของสถาบันนักวิจารณ์ Los Angeles และยังได้ไปแสดงที่ Whitney Museum of American Art’s Biennial


ส่วนเรื่องถัดมา Queen of the Diamonds หนัง 35 มม. ราคา 125,000 เหรียญในระบบดอลบี้ ถ่ายในลาส เวกัส เรื่องนี้ได้ฉายประกวดที่เทศกาลหนังซันแดนซ์ และได้รับคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 10 หนังยอดเยี่ยมที่สุดแห่งปีที่คัดเลือกโดย หนังสือพิมพ์ Los Angeles Times กับ Atlanta Art Papers และนิตยสารหลายฉบับ


The Bloody Child (1996) เรื่องนี้ได้แรงบันดาลใจจากเรื่องจริง เป็นเรื่องของทหารเรือหญิง (แสดงโดย Tinka อีกเช่นเคย) ที่มาพบกับทหารเรือชายซึ่งกำลังขุดหลุมฝังภรรยาของเขาที่ถูกฆ่าตาย

Menkes ถ่ายทำเรื่องนี้ในทะเลทรายที่แอฟริกา ผสมกับทะเลทรายที่ 29 palms ที่แคลิฟอร์เนีย เรื่องนี้เธอใส่บทละครผัวฆ่าเมียจากเรื่อง Macbeth ของ เช็คสเปียร์ ผสมเข้าไปด้วย หนังเรื่องนี้ทำให้ เควิน โธมาส นักวิจารณ์จาก Los Angeles Times เรียกหนังเธอว่า “เป็นงานศิลปะที่สร้างแรงบันดาลใจในระดับสูงสุด ถือเป็น 1 ใน 5 สุดยอดหนังแห่งปี”

อะไรที่ทำให้เธอได้รับการชื่นชม
หนังของเธอมีลีลาที่สุขุม แต่แฝงระเบิดเวลาทางอารมณ์ ทุกภาพทุกช็อตมีความหมาย เชื่องช้า ไม่เร่งเร้า แต่ แฝงวิญญาณปริศนาที่ซ่อนเร้น เธอไม่ยึดในหลักการ แต่เชื่อมั่นในเรื่องของสัญชาตญาณ และโลกภายในตามที่จิตเธอเห็น


โจนาธาน โรเซนโบม นักวิจารณ์รุ่นใหญ่จาก The Chicago Reader ที่มีผลงานวิจารณ์หนังรวมเล่ม และได้รับการยกย่องมากที่สุดคนหนึ่งในอเมริกา ยกย่องหนังที่ “พลาดไม่ได้” ของ Menkes เรื่อง The Bloody Child ว่า หากเทียบกับหนังฮอลลีวู้ดเรื่อง Courage Under Fire ที่เกี่ยวกับทหารหญิงและสงคราม Gulf War ในทำนองคล้ายกันแล้ว หนังโชว์ฉลาดของฮอลลีวู้ดเรื่องนั้นจะหลุดเป็นชิ้น ๆ ไม่ต่างจากกระดาษชำระที่เปียกน้ำ

ถ้าเธอมีเงินทุนเยอะขึ้น หนังเธอคงยิ่งดีขึ้น
ที่จริงเธอก็คงชอบให้มีสตางค์ใช้มากขึ้น จะได้ไม่ต้องเขียมเกินไป ยิ่งหนังบางเรื่องที่เธออยากทำเสื้อผ้าให้พิสดารหน่อย แต่ส่วนตัวเธอแล้ว เธอก็คิดว่าการจ้างทีมงานหลายสิบหลายร้อยมาเดินไปมาในกองถ่ายไม่มีความจำเป็นอะไร เป็นแค่เรื่องการประกาศอีโก้มากกว่า เธอบอกว่า Tinka น้องสาวที่เล่นหนังให้เธอนั้น ชอบอ้างคำกล่าวของชาว อะบอริจิ้นที่ว่า “ยิ่งคุณรู้มากเท่าไร คุณก็ยิ่งต้องการน้อยลงทุกที”

แก่นของหนังเธอ


Nina Menkes ติดปากคำว่า The Shadow Feminine (คราบเงาแห่งความเป็นหญิง) เธอบอกว่าสิ่งนี้เป็นเรื่องที่เจาะจงในทางวัฒนธรรมอเมริกัน เป็นรอยแผล ความเจ็บปวด และสิ่งที่อื้อฉาวซึ่งติดตัวผู้หญิงอเมริกันทุกคน สำหรับในคนแก่ และคนป่วยก็ถือว่าแย่พอแล้ว แต่ในกรณีของผู้หญิงก็ยิ่งสุดขั้วกว่ามาก ข้อสรุปและข้อเรียกร้องสำหรับผู้หญิงอเมริกันนั้น ถ้ากล่าวโดยสรุปแล้วก็คือต้องเป็นคนที่ friendly and fuckable (“ทั้งน่าเอา ทั้งเป็นมิตร”) สาวทุกคนต้องดูดี ผิวสวย แต่งตัวให้ดูดี แล้วทำไมพวกเธอต้องคอยมาแต่งตัวกลบเกลื่อนตัวเองด้วย

สิ่งที่ผู้หญิงกลบเกลื่อนนั่นก็คือ ความเจ็บปวด และอารมณ์เคียดแค้นที่ซุกซ่อนไว้ เพราะมันไม่ได้รับการอนุญาตให้เปิดเผยออกมา ทำให้มันต้องถูกบิดเบือนไปในรูปทรงผิดธรรมชาติ ในหนังเรื่อง Magdalena Viraga กับ Queen of Diamonds เจ้าร่างแห่งรอยแผลนี้จึงปรากฏขึ้นมา เหมือนเธอเป็นร่างที่โผล่ออกมาจาก “กระท่อมระดู” เธอยังไม่ได้ถูกชำระล้าง

นอกจากนั้น Nina Menkes ยังกล่าวว่า ไม่สนใจอธิบายพื้นหลังของตัวละคร ตัวละครแบบที่ Tinka น้องสาวของเธอแสดงนั้นไม่ได้มีประวัติความเป็นมา เพราะหนังฮอลลีวู้ดชอบสนใจในตัวละครที่เป็นจริง ส่วนเธอสนใจที่ มุมชั้นในของความจริง และ โดยเฉพาะด้านชีวิตที่อยู่ในมุมแอบ

Nina Menkes บอกว่าสื่อนั้นบูชาความรุนแรง แต่หนังของเธอพยายามที่จะแสดงถึงความรุนแรงโดยปราศจากการชื่นชมบูชา ในลักษณะของหนังที่เป็นนามธรรม



เกี่ยวกับหนังของ Nina Menkes ที่จะมาฉายในงาน


Phantom Love เป็นหนังเซอร์เรียลภาพขาวดำที่คงสไตล์ของ Menkes ไว้อย่างเสมอต้นเสมอปลาย ยิ่งเรื่องการใช้ฉากหลังที่ดู Exotic แปลกถิ่นนั้นดูจะเป็นแนวถนัดของเธอไปแล้ว (เรื่องนี้มีฉากในอินเดียด้วย) เรื่องเน้นไปที่ตัว ลูลู่ (Marina Shoif) หญิงเจ้าอารมณ์ที่ทำงานในย่านเกาหลี (Korea-Town) ที่ลอส แองเจลีส เธอมีคนรักหนุ่มที่อ่อนวัยกว่าเธอหลายปี และมีน้องสาวที่อาการทางจิตกำเริบหนักขึ้นทุกวันเพราะการทานยา แล้วยังมีแม่ของพวกเธอ (Helen Bubennechik) ที่เดินทางมาพักที่อพาร์ตเมนต์ของ ลูลู่ ซึ่งทำให้เรื่องราวยิ่งเลวร้ายมากขึ้นไปอีก

ตัวหนังไม่ได้เล่าเรื่องราวแบบตรงไปตรงมา แต่ ไขว้ไปมาเหมือนกล่องปริศนาที่ซ้อนทับกันหลายชั้น ถ่ายทำโดยผสมความจริงคล้ายหนังสารคดี (นักแสดงสมัครเล่น) พร้อมกับผสมภาพฝันแฟนตาซีสไตล์หลุดโลก บางฉากทำให้หวนนึกถึงหนังเรื่อง The Mirror หรือ Stalker ของ อังเดร ทาร์คอฟสกี้

แบบอย่างในการทำหนังของเธอคือใคร
เวลาคนเอ่ยถึงหนังของเธอ มักจะเปรียบถึงภาพทิวทัศน์และภาพคนในหนังของ Andrey Tarkovsky, Michelangelo Antonioni, Chantal Akerman , Werner Herzog, Robert Bresson, Brothers Quay ซึ่งเธอเองก็ยอมรับว่าชอบหนังของคนเหล่านั้น เธอเคยให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Film Quaterly ว่าหนังที่มีผลกระทบกับเธอมากที่สุดคือเรื่อง Red Desert กับ L’ Avventura ของ Antonioni กับหนังยุคเริ่มแรกของ Werner Herzog (โดยเฉพาะ Fata Morgana) ส่วน David Lynch เธอก็นิยม นอกจากนั้นก็มี Last Year at Marienbad ของ Alain Resnais+ Alain Robbe-Grillet รวมถึงหนัง Broken Mirrors ของ Marleen Gorris หนังทดลองของ Peter Hutton และที่ผิดคาดสำหรับหลายคนคือ Sergei Eisenstein

3 comments:

Filmvirus said...

ทราบมาว่า ขณะนี้ Nina Menkes และ Percy Adlon คงไม่สามารถมาเยือนเมืองไทยได้แล้ว

น่าเสียดายสำหรับกรณี Nina

เอาเป็นว่าปีหน้าจัด Retrospective ให้ Nina เลยดีไหม แต่ถ้าเธอเป็นคนยุโรปคงมาง่ายกว่านั้ใช่มั้ยบิ๊ก

celinejulie said...

เธอไม่มา แล้วหนังของเธอจะยังมาอยู่หรือเปล่า หนูอยากดูมากๆเลยค่ะ

Filmvirus said...

ถ้าฟิล์มไม่มาอีกคราวนี้มีอาละวาด!