3/31/09

Once Upon A Time in Bangkok

เมื่อฝรั่งเศสมีหนังอย่าง Paris je t'aime มะกันก็ทำ New York, I Love You
พี่ยุ่นก็กำลังจะมี Tokyo เราเลยคันไม้คันมืออยากเล่าเรื่องราวของเมืองหลวงของเราบ้าง กับ
Once Upon a Time in Bangkok
“เมื่อกรุงเทพฯ กำลังจะเป็นเพียงแค่ความทรงจำ”


พ.ศ. 2551 ประเทศไทยได้เข้าสู่ภาวะชะงักงันทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ การศึกษา ศาสนา ไปจนถึง สังคม กรุงเทพกลายเป็นเมืองแรกที่ได้รับผลกระทบจากทุกๆด้าน เศรษฐกิจพังพินาศ เอกชนล้มละลาย ดาราเตียงหัก ผัวเมียจดทะเบียนหย่ามากขึ้น รวมไปถึงปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรง ทำให้กรุงเทพมีพื้นที่น้อยลงเรื่อยๆ

พ.ศ. 2552 รัฐบาลชุดใหม่และฝ่ายค้าน ที่มาจากการเลือกตั้งบ้างและดันก้นตัวเองขึ้นมาบ้าง เลิกทะเลาะกัน แล้วหันมาทำงานเป็นครั้งแรก โดยเห็นพ้องต้องกันว่าจะย้ายเมืองหลวงไปเป็นจังหวัดนนทบุรี เนื่องจากปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ มีมากเกินจะเยียวยา และจังหวัดนนทบุรี มีพืชอย่างทุเรียนเป็นพืชเศรษฐกิจที่จะทำให้ตลาดส่งออกคึกคักอีกครั้งหนึ่ง

Viva.Bigfish ขอเชิญทุกคนมาร่วมเป็นพยานการมีชีวิตของมหานครแห่งความหวัง เมืองหลวงสัญชาติไทย “กรุงเทพ มหานคร” พบกับ 17 เรื่องราว จาก 17 ผู้กำกับ ที่บอกเล่าถึงความรักที่มีต่อมหานครแห่งนี้ ในช่วงเวลาสุดท้ายก่อนที่กรุงเทพจะไม่ได้เป็นเมืองหลวงที่เราคุ้นเคยอีกต่อ ไป

จะสวยงาม สุข เศร้า เหงา เพี้ยน กันขนาดไหน พบกันได้ในวันเสาร์ที่ 4 เมษายน 2552 เวลา 17.30 น. ที่ห้องออดิทอเรียม หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร ชั้น 5 (หอศิลป์ กทม. คือ ตึกขาวๆ ใหญ่ๆ ตรงข้ามมาบุญครอง / ลง BTS สนามกีฬา จะมีทางเชื่อมเข้าไปเลยครับ / ดูรูป+แผนที่ในไฟล์แนบ)

หนังทุกเรื่องมีซับไตเติ้ลภาษาอังกฤษ สามารถชวนชาวต่างชาติมาดูได้ครับ

งานนี้ดูฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น!

...ก่อนที่กรุงเทพจะกลายเป็นเพียงแค่อดีต...

รายชื่อผู้กำกับทั้ง 17 คน

ธนชาติ ศิริภัทราชัย (ผกก. มุม)
สิริกาญจน์ ธนไพศาลศิริ (ผช.ผกก. The Coffin)
ชาคร ไชยปรีชา (เจ้าพ่อเพลงเสื่อมมิวสิก)
คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง (บล็อกเกอร์)
สุภาวดี ศรีภูธร (ผกก. Way to Blue)
กาญจนา เอกสินธ์ (ผกก. ธรรมดาสู่สามัญ)
อรรถพล ปะมะโข (ผกก. ฮะซัน)
วรัญญา ตุงคะสมิต (เจ้าของบล็อก Collage Canto)
ณัฐพันธ์ ปิ่นทวีเกียรติ (ผกก. สถานีปลายทาง)
เมธัส ศิรินาวิน (ผกก. มึงฆ่าแฟนกู)
ณัฐชัย ใจธิตา (ผกก. ไตแลง)
ภาส พัฒนกำจร (ผกก. The Day Before Revolution)
ปฐวี วิรานุวัตร (ผกก. Takeshi)
พัชร เอี่ยมตระกูล (ผกก. แพรว)
วิศรุต ดีล้อม (ผกก. Still)
ไพรัช คุ้มวัน (ผกก. เวลาลาน)
ปรวิศ พ่วงศรี (ผกก. Love for Sale)

ทีเซอร์ Once Upon a Time in Bangkok
http://www.youtube.com/watch?v=pS69ttp66tk

ติดต่อสอบถาม ป้อง 086-569-7647

3/30/09

Le Bal des Actrices (All about Actresses)

Le Bal des Actrices
(All about Actresses) สารคดีซ้อนหนัง?
Maiween Le Besco (น้องสาวหรือพี่สาวของ Isild le Besco? ที่เคยท้องกับ Luc Besson ตั้งแต่อายุ 17) เปิดกระโปรงรวมดาวสาวครัวซองส์ ตั้งแต่ Jeanne Balibar, Karin Viard, Romane Bohringer ถึง Julie Depardieu

อ่านที่ Paris Update:

3/28/09

หนังสือ Apichatpong Weerasethakul ฉบับภาษาอังกฤษ

Apichatpong Weerasethakul - a book
edited by James Quandt
สำนักพิมพ์ Austrian Film Museum (Synema Gesellschaft Fur Film u. Medien)

หนังสือรวมบทความวิเคราะห์ผลงานของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล แบบครบเครื่อง เล่มแรกในภาษาอังกฤษ (ที่จริงก่อนเจ้ยทำ สุดเสน่หา มีคนเยอรมันทำหนังสือวิเคราะห์งานเจ้ยเล่มเล็ก ๆ ออกมาแล้วเล่มหนึ่ง)

ตอนนี้เจ้ย-อภิชาติพงศ์กำลังอยู่ในเวียนนาโดยเป็นส่วนหนึ่งของงานฉายผลงานหนัง+วีดีโอครบชุด และเปิดตัวหนังสือเล่มนี้ บรรณาธิการโดย James Quandt ที่เคยทำหนังสือเกี่ยวกับ Robert Bresson, Kon Ichikawa และ Shohei Imamura

ในเล่มนี้มีบทความของ Benedict Anderson ไม่รู้มาจากเล่ม "สัตว์วิกาล: ภาพเรืองแสงของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล" (Unknown Forces: The Illuminated Art of Apichatpong Weerasethakul) ของ filmvirus หรือเปล่า

อ้อ ในเล่มมีบทความของ Tilda Swinton ที่เคยปลื้ม "สัตว์ประหลาด" เอามาก ๆ ด้วย

อ่านรายละเอียดที่เว็บสนพ. wallflower: http://www.wallflowerpress.co.uk/product/forthcoming/Apichatpong_Weerasethakul
ถ้าโชคดีอาจมีสั่งเข้ามาที่ร้าน Kinokuniya โปรดคอยติดตาม

3/27/09

Workshop : Creation from abstract โดยกลุ่มละคร 8x8

Workshop : Creation from abstract
การแสดง และการสร้างงาน จาก "นามธรรม"
..............................................
by Nikorn Saetang : 8x8 Theatre Group
27 - 30 March 2009
6.30 pm. - 9.30 pm.
@Democrazy Theatre Studio
....................................................
เรียนรู้เกี่ยวกับ Learning about
- อะไรคือ abstract นามธรรม
- แบบฝึกหัด ทางร่างกาย ที่จำเป็นสำหรับ การแสดง แบบ นามธรรม
- Dynamic movement, free and control movement
- ความต่างของ ธรรมชาติ และ วัสดุ ประดิษฐ์ Natural and plastic dynamic
- การ ใช้ และ ควบคุม พื้นที่ Control and Take space
- รู้จักกับ สี และ แสง colors and light
- องค์ประกอบศิลป์ เส้น และรูปทรง composition
- เสียง และ ภาษา Sound and language
- ดนตรี music : การใช้ดนตรีในฐานะ คู่แสดง ไม่ใช่ดนตรีประกอบ
- Creation from abstract การสร้างงาน จาก นามธรรม
.........................................................
- Price : 2,500 b.
- Limited at : 15 persons
- Should have some theatre or dance experience
ควรมีพื้นฐานการแสดงหรือการเต้นมาบ้าง

3/23/09

Leos Carax ปะป๋า Wong Kar Wai ?

การกลับมาของ Leos Carax บิดาแห่งหนังเท่รุ่นก่อน Wong Kar Wai

Leos Carax บิดาแห่งหนังเท่ ๆ ที่กินไม่ได้ กลับมาทำหนังอีกครั้ง หลังจากตกงานไม่มีคนจ้างทำหนังเป็นเวลาเกือบสิบปี

คราวนี้ Leos Carax แท็กทีมกับ Michel Gondry และ Bong Joon-Ho

เป็นเรื่องน่าเศร้าหรือน่าเฮก็ไม่รู้ ที่ค้นพบว่าไม่ได้ชอบหนังของ Leos Carax อีกแล้ว ตั้งแต่พี่ท่านไปทำ “สะพานรักปองเนิฟ (Lovers on the Pont-Neuf หรือ Les Amants de Pont Neuf) กับ Pola X เมื่อก่อนจำได้ว่าตอนที่ดู Boy Meets Girl กับ Mauvais Sang ที่อังกฤษสมัยออกฉายใหม่ ๆ เคยคาดการณ์ว่าเขาจะกลายเป็นคนทำหนังที่สำคัญที่สุดคนหนึ่งของฝรั่งเศสทีเดียว แบบเดียวกับที่เคยหวังไกลกับ Wong Kar Wai หรือ Julio Medem ที่กลุ่มนี้น่าจะไปกันได้ในแง่ของความโฉบเฉี่ยวกิ๊บเก๋สะใจวัยโจ๋ หรืออาจจะเรียกได้ว่า Leos Carax นี่เป็นพ่อหว่องอีกที (ถัดจาก Godard) ในแง่ของการใช้ภาพที่โคตรเท่ เพลงป๊อปถึงอารมณ์ และภาพคู่รักหนุ่มสาวที่เป็นโศกนาฎโรแมนซ์

ใครบ้างจะลืมเพลง Modern Love ของ David Bowie ในฉากที่ Denis Lavant วิ่งตะบึงบนถนนเปล่าเปลี่ยวยามดึกสงัดใน Mauvais Sang

ใครบ้างจะลืมวิกาลงาม ๆ ของ Juliet Binoche ในบทสาวลึกลับที่เป่าลมปากไร้เส้นผมบนหน้าผากตัวเองใน Mauvais Sang ความสัมพันธ์ทั้งหน้ากล้องและหลังกล้องระหว่างนักแสดง-ผู้กำกับในแบบเดียวกับ Anna Karina-Jean Luc Godard ที่เห็นได้ชัดว่ากล้อง in love กับนางเอกเสียเหลือเกิน (สุดท้ายความรักผู้กำกับกับดาราก็จบลงหลังจากสร้างเรื่อง “สะพานรักสารสิน” (aka สะพานรักท้องป่อง)

หนุ่มคนไหนจะไม่อยากโผไปปลอบโยน Mireille Perrier สาวตาสวยหน้าป่วยที่เต้นแท็ปได้แสนชดช้อย เธอซึ่งไม่ควรปล่อยให้ความรักผุพังกร่อนใจจนไม่อยากมีชีวิตต่อไป

และในหนังแทบทุกเรื่อง Denis Lavant พระเอกขี้เหร่ตัวเล็ก (ที่ป่วยจิตอีกเช่นกัน) ย่อมไม่สามารถเอื้อมลึกถึงอดีตมืดในใจของสาว ๆ เหล่านั้น

เออ เขียนไปเขียนมาชักจะอ้วกว่ะ

ใช่ ก่อนนั้นเคยบ้า Leos Carax มากจนแนะนำให้สมาคมฝรั่งเศสเอาฟิล์มมาจัดฉายเป็นครั้งแรก พร้อม ๆ กับ La Rayon Vert (The Green Ray / Summer) หนังของ Eric Rohmer ที่เพิ่งค้นพบในเวลาไล่เลี่ยกัน

มาถึงตอนนี้ Leos Carax ได้รับโอกาส (สุดท้าย?) ให้ทำหนังสั้นคนละประมาณครึ่งชั่วโมงประกบกับ Michel Gondry และ Bong Joon-Ho ผู้กำกับหนังสัตว์ประหลาด The Host ในชุดหนังสั้น 3 เรื่องชื่อ Tokyo!

โดย Carax ทำเรื่อง Merde ที่แปลว่า Shit
ส่วน Gondry มาด้วยชื่อหนังที่สุภาพกว่าคือ Interior Design
ฝั่ง Bong Joon-Ho นั้นท่าทางจะอาละวาดเมืองโตเกียวให้ราบเป็นหน้ากลอง (หรือเปล่า) ด้วยชื่อ Shaking Tokyo

ที่จริงก็ไม่คิดหรอกว่าหนังแต่ละคนจะออกมาดี น่าจะไปทางห่วยเสียด้วยซ้ำ แต่ก็นะ ไม่ให้เสียน้ำใจว่าเคยเชียร์กันมา ถ้ามีโอกาสหาดูคงไม่พลาดแน่ ถึงจะหมดยุครุ่งโรจน์ของ Carax เสียแล้ว

ไม่รู้คนรุ่นใหม่ ๆ เคยดูหนังของ Leos Carax บ้างไหม โดยเฉพาะเรื่องแรก ๆ Boy Meets Girl กับ Mauvais Sang (The Night is Young / Bad Blood)

ตามข่าวหนัง 3 เรื่องนี้อย่างละเอียดได้ที่นิตยสาร filmmaker:
http://filmmakermagazine.com/directorinterviews/2009/03/leos-carax-and-michel-gondry-tokyo.php

3/21/09

ศาลาเฉลิมรักษ์ ตอน Story of Pure Love

Story of Pure Love

"วิมานรักวัยรุ่น" หนังญี่ปุ่นของ Tadashi Imai ที่ได้รางวัล Silver Bear ที่เทศกาลหนังนานาชาติเบอร์ลินปี 1958

3/20/09

Everyman Cinema

โรงหนัง Everyman Cinema ในลอนดอน
อ่านข่าวนี้ http://www.newstatesman.com/film/2008/09/independent-cinema-art และอ่านประโยคนี้ "อย่าปล่อยให้คนรักหนังบริหารโรงหนัง" ของ Daniel Broch ก็เศร้าใจ
รู้สึกผูกพันกับโรงหนังโรงนี้แบบเดียวกับที่ผูกพันกับโรง สยาม สกาล่า ลิโด้ เครือเอเพ็กซ์, เพรสซิเดนท์ แม็คแคนน่า อีเอ็มไอ แค็ปปิตอล ฮอลลีวู้ด เมอร์รี่คิงส์ ปิ่นเกล้า ฯลฯ

โรงหนัง Everyman Cinema ย่านแฮมเสต็ด เปิดมาตั้งแต่ปี 1933 ถ้าใครดู Peeping Tom หนังคลาสสิกเรื่องดังของอังกฤษ (ปี 1960) อาจจำได้ว่ามีตัวละครเด็กหนุ่มคุยกับ มาร์ค พระเอกของเรื่อง ว่าอยากจะถกเรื่องหนังที่เพิ่งดูมาที่ Everyman Cinema ถึงสองครั้ง
ผมเคยไปดูบ่อยเกือบทุกวันในช่วงปี 1987-1988 เป็นโรงหนังสำคัญที่จะดูหนังควบวันละ 3 เรื่องของ Hitchcock, Fritz Lang, Alain Resnais, Jean-Luc Godard, Nicholas Ray, John Ford, Ingmar Begman, Andrei Tarkovsky, Sam Peckinpah, Luis Bunuel, R. W. Fassbinder, The Saragossa Manuscript หรือหนังฝรั่งเศสที่มีมุมเลสเบี้ยนในยุค 30 อย่าง Club de Femmes (ถูกเซ็นเซอร์ไปตั้ง 50 ปี) และอื่น ๆ อีกมากมายได้ที่โรงนี้
แต่ปัจจุบันหลังจากขาดทุน เปลี่ยนการบริหารใหม่ก็แล้ว กลายเป็นโรงหนังคนละแบบกับแนว repertory cinema โรงเดิม จะมีวันที่ Everyman Cinema กลับมาเหมือนเก่าไหมนี่
ทิ้งท้ายให้ดูภาพโรงหนังเก่า ๆ ที่น่าจดจำ http://reliques.online.fr/theaters/theaters00.html
กดตามลูกศรไปเรื่อย ๆ เพื่อดูเสน่ห์และความอลังการดังโรงโอเปร่าของโรงหนังในอดีต มันช่างห่างไกลจากธุรกิจเย็นชาของโรงหนังซีนีเพล็กซ์สมัยนี้ที่อัดหนังโฆษณาจนตาแฉะ สั่งให้พนักงานเดินตรวจตะคุ่ม ๆ ตลอดเรื่องจนแทบหัวใจวายเวลาดูหนังสยองขวัญ

3/12/09

วารสาร อ่าน เล่ม 3 และ ฟิ้ว เดือนมีนาคม

วารสาร "อ่าน" เล่มสาม
ฉบับ สงครามชิงทำเนียบ
ในฐานะที่มีส่วนในการเขียนเล่มนี้ด้วย ขอออกตัวไว้เลยว่านี่คงเป็นการเขียน "อ่าน" เล่มแรกและเล่มเดียว นั่นไม่ใช่ว่าเขียนดีภูมิใจเหลือเกิน หากแต่เป็นตรงกันข้าม อย่างที่เคยพูดไว้บ้างแล้วว่าผมไม่มีความสุขในการเขียนอีกแล้วสักกระเผียก ต่อให้ภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในของดีระดับนี้ แต่ตัวเองก็ควรรู้สภาพความสามารถของตัวเองใช่ไหม

อีกทั้งคอลัมน์ "อ่านภาพ" ก็กำลังจะมีตัวยืนที่แข็งแรงตัวจริงอย่าง filmsick คอยเสริมทัพกับ อาดาดล อิงควณิช ฉะนั้นไม่ต้องหวั่นแล้วเรื่องคุณภาพ โดยเฉพาะ วารสาร อ่าน ฉบับหน้า (ฉบับ 4) ที่ filmsick จะร่ายเรื่องหนังทั้งหมดของ Lucrecia Martel สาวเก่งของวงการหนังอินเตอร์ในปัจจุบัน

เกี่ยวกับเรื่องบทความที่ผมเขียนในเล่ม 3 นี้ เห็นบ.ก. ไอดา บอกว่าขอตัดออก 4 หน้า เนื่องจากเขียนยาวเหลือเกินทั้งบทความทั้งเชิงอรรถ ขณะนี้ผมยังไม่กล้าย้อนไปเทียบอ่านกับต้นฉบับ แต่ก็คิดว่าการตัดทอนคงมีประโยชน์กับคนอ่านมากขึ้น น่าจะดูรวบรัด ไม่นอกเรื่องเยิ่นเย้อ หรือโดนหางเลขใคร เอาเป็นว่าฟิล์มไวรัสโดนพลาสเจอไรซ์เสียแล้ว (ด้วยรอยยิ้ม) น่าจะดูเป็นมิตรกับคนอ่านทั่วไปมากขึ้น อาจมีปัญหาอยู่บ้าง ตรงบทความบางส่วนโดยเฉพาะช่วงแรก ๆ ที่เอ่ยถึงหนังบ้าน มีรวบรัดห้วนจนอ่านกระโดดนิดหน่อย เรื่องเล่าเกี่ยวกับหนังบ้านไทย หนังจอมพล ป. หนัง ดร. สมเกียรติ อ่อนวิมล หรือชาวบ้านอื่น ๆ ก็เลยหายต้อยไปอย่างเจี๋ยมเจี้ยมเช่นนี้เอง

ใน ฟิ้ว เล่มใหม่ เดือนมีนาคม 2552 มีบทสัมภาษณ์ ศิวโรจณ์ คงสกุล ผู้กำกับหนังสั้น เสียงเงียบ และ อุรุพงศ์ รักษาสัตย์ ผู้กำกับ สวรรค์บ้านนา (Agrarian Utopia) เสียดายว่าคุยกันสั้นไปหน่อย

3/10/09

เทศกาลภาพยนตร์เยอรมันกลางแจ้ง เดือน มีนาคม 2552

ฉาย Vitus และ Laki Penan

แอบฉายหนังสวิสกันแบบเงียบ ๆ ไม่บอกกล่าวเล่าสิบ ใครจะไปรู้ได้ ซ้ำยังแอบมี Vitus หนังรุ่นใหม่ของ Fredi M. Murer คนทำ Alpine Fire ซึ่งนาน ๆ ทีถึงจะทำหนังออกมาสักเรื่อง เห็นว่าเรื่องนี้เกี่ยวกับเด็กอัจฉริยะที่มีพรสวรรค์ทางการเล่นเปียโน (สงสัยจะเหมาะฉายคู่กับ Tokyo Sonata ของ คิโยชิ คุโรซาว่า) อ้อมี Bruno Ganz ที่ดังจากหนังของ Wim Wenders แสดงด้วย (คนรุ่นใหม่ ๆ จะคุ้นหน้าเขาจากหนังฮิตเลอร์เรื่อง Downfall และบทอาจารย์ของพระเอกที่มหาวิทยาลัยในเรื่อง The Reader)



กับอีกเรื่องหนังของ Bruno Manser เรื่อง Laki Penan เรื่องของหนุ่มสวิสที่ไปกลมกลืนกับชาวซาราวัคในบอร์เนียว จนได้ชื่อเผ่า Laki Penan และกลายเป็นตัวตั้งตัวตีในการป้องกันการรุกล้ำธรรมชาติ

ชมเรื่องนี้ก่อนที่หนังจะไปฉายรอบปฐมทัศน์ที่อเมริกาอันเป็นส่วนหนึ่งของงานเทศกาล Environmental Film Festival วันที่ 20 มีนาคมนี้

เทศกาลภาพยนตร์เยอรมันกลางแจ้ง ภาษาเยอรมัน พร้อมบรรยายภาษาอังกฤษ
จัดฉาย ณ ลานจอดรถ สถาบันเกอเธ่ ประเทศไทยไม่เสียค่าเข้าชม

Vitus
วันพุธที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2552 เวลา 19.30 น.
Laki Penan
วันพุธที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2552 เวลา 19.30 น.

*ในกรณีที่ฝนตกจะจัดฉายในหอประชุม สถาบันเกอเธ่ฯ

3/9/09

Catcher in The Rye ฉบับแปลของ ปราบดา หยุ่น

"จะเป็นผู้คอยรับไว้ ไห้ใครร่วงหล่น" คงไม่มีใครที่อ่าน The Catcher in the Rye แล้วจำประโยคนี้ไม่ได้

The Catcher in the Rye ผลงานวรรณกรรมคลาสสิกของอเมริกันชนที่แต่งมา 50 กว่าปีแล้ว แต่ยังปรุงใจสับสนช่วงวัยรุ่นให้คนอีกหลายชั่วรุ่น กำลังจะมีสำนวนแปลภาษาไทยเป็นครั้งที่ 3 และคราวนี้แปลโดยตัวแทนเสียงของคนรุ่นใหม่อย่าง ปราบดา หยุ่น

J. D. Salinger นักเขียนเจ้าของผลงานอีกเล่มดังคือ Nine Stories (ที่มีตัวละครในเรื่องสั้นเรื่องต่าง ๆ มีความเกี่ยวข้องกัน) Salinger เป็นคนที่ต่อต้านสังคมตัวกลั่น นอกจากไม่ชอบออกงาน ไม่ยอมให้สัมภาษณ์แล้วยังไม่ยอมสุงสิงกับใครง่าย ๆ ชอบปลูกผักทำสวนอยู่บ้านนาของตัวเอง ว่าง ๆ ก็ฉายหนังเก่า ๆ ดู (มีเครื่องฉายหนัง 16 มม. ที่บ้าน) แต่ไม่ใช่คนที่จะยอมให้ใครซื้อหนังสือเขาไปทำหนังกับเขาหรอก ต่อให้จ่ายเงินเท่าไรก็ไม่เอา

ขอเชิญร่วมเสวนาและเปิดตัวหนังสือ The Catcher In The Rye
"จะเป็นผู้คอยรับไว้ ไม่ให้ใครร่วงหล่น" ของ J.D. Salinger
แปลโดย ปราบดา หยุ่น
วันพฤหัสบดีที่ 19 มีนาคม 2552 นี้ เวลา 14.00-16.00 น.
ณ ร้านคิโนคูนิยะ สยามพารากอน
สอบถามรายละเอียดได้ที่ 089 777 0541

3/7/09

ปกวีซีดี The Nutty Professor

อย่างที่เขียนถึง Jerry Lewis ที่ได้รางวัล Honorary Award ในงานออสการ์ปีล่าสุดไปแล้ว

เพิ่งค้นปกวีซีดีบรรยายไทยเจอ ชื่อไทยว่า "ศาสตราจารย์บ๊องแบ่งสองร่าง"


Jerry Lewis สำคัญยังไง

อ่านเกี่ยวกับ Jerry Lewis ที่เขียนไปแล้ว:http://twilightvirus.blogspot.com/2009/03/jerry-lewis.html

การเมืองในมิติกวีนิพนธ์

*จากสำนักพิมพ์คมบาง*

ข่าวประชาสัมพันธ์งานอ่านบทกวี การเมืองในมิติกวีนิพนธ์

ขอเชิญร่วมงานอ่าน บทกวีสาธารณะ Thai Poet Society Forum ครั้งที่ 1

การเมืองในมิติกวีนิพนธ์

วันที่ 22 มีนาคม 2552 เวลา 16.30 - 20.00 น. ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ
Thai Poet Society Forum คือ forum ที่ปรารถนาจะเปิดพื้นที่ของกวีนิพนธ์เพื่อสื่อสารกับสังคม

ในงานครั้งแรกนี้ มีกวีร่วมอ่านบทกวีทั้งหมด 21 ท่าน คือ 1. เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ 2. ศักดิ์ศิริ มีสมสืบ 3. ไพวรินทร์ ขาวงาม 4. มนตรี ศรียงค์ 5. เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์ 6. ประกาย ปรัชญา 7. ไม้หนึ่ง ก.กุนที 8. สมพงษ์ ทวี' 9. เสรี ทัศนศิลป์ 10. กฤช เหลือลมัย 11. ศิริวร แก้วกาญจน์ 12. เสี้ยวจันทร์ แรมไพร 13. ซะการีย์ยา อมตยา 14. มูหัมหมัดฮาริส กาเหย็ม 15. โกสินทร์ ขาวงาม 16. อังคาร จันทาทิพย์ 17. อุเทน มหามิตร 18. ตุล ไวฑูรเกียรติ 19. ลัดดา สงกระสินธ์ 20. แก้วตา ธัมอิน 21. อาณัติ แสนโท เปิด Forum ด้วยงานศิลปะแสดงสด โดยศิลปิน performance art มงคล เปลี่ยนบางช้าง

หลังการอ่านกวีนิพนธ์ มีการปาฐกถาวิจารณ์ตาม โดย ส.ศิวรักษ์

สอบถามรายละเอียด ติดต่อ 02 - 860 3527, 081 - 572 1444

3/2/09

ออสการ์เกียรติยศแด่ Jerry Lewis

Jerry Lewis

เจอร์รี่ ลิววิส - หมอนี่เคยดังเหลือเกินในบ้านเรา หนังเข้าฉายบ้านเราแทบทุกเรื่อง คนดังจากแก๊งนิตยสารฝรั่งเศส Cahiers du Cinema อย่างผู้กำกับJean-Luc Godard ก็ชื่นชมเขาเหลือเกิน แต่สำหรับอเมริกาบ้านเกิดแล้ว หลายปีทีเดียวที่เขาเคยถูกมองเป็นแค่ตัวตลกคู่กับ Dean Martin ที่ไม่มีความสามารถอะไรนักในฐานะผู้กำกับหนัง (จนกระทั่ง Martin Scorsese จับเขาไปแสดงกับ Robert de Niro ในหนังเยี่ยมเรื่อง The King of Comedy) และบัดนี้รางวัลออสการ์เกียรติยศ (สำหรับคนแก่) ได้ตกถึงมือของเขาในที่สุด

วีซีดีหนังเรื่อง The Nutty Professor จากค่ายแปซิฟิกมีจำหน่ายในชื่อว่า "ศาสตราจารย์บ๊องแบ่งสองร่าง" (มีฉบับรีเมคนำแสดงโดย Eddie Murphy)

ดูภาพปกวีซีดีไทย The Nutty Professor ฉบับที่ Jerry Lewis แสดงได้ที่นี่: http://twilightvirus.blogspot.com/2009/03/nuty-professor.html

Wild at Heart of Third Class Cinema

กลับมาคราวนี้ สอง ต. เต๋อ- ต่อ แห่งสำนัก Third Class Cinema ยังคงแรงสร้างสรรค์เหลือเฟือ คราวนี้จึงรวมแก๊งหนุ่มกลัดมัน ปลุกปั้นหัวใจป่วนปั่นเป็นเชื้อเพลิงแรงสูงหมายเลข 13

THIRD CLASS CINEMA : PROGRAMME 013

WILD AT HEART!


เมื่อชายแมนๆ 4 คณะมาเจอกัน เราจึงขอเปิดมหกรรมเทศกาลหนังดิบๆ แมนๆ และ บ้าๆ ต้อนรับปิดเทอมแก่น้องๆที่น่ารักทุกคน โดยมีรายชื่อหนังดังต่อไปนี้

ฅนตัดหญ้า 4 หนังภาคล่าสุดของไตรภาคฅนตัดหญ้าโดยคณะยอดเซียนซัก แห้ง ที่จะเรียกว่าเคยลือลั่นได้รึเปล่าอันนี้ไม่รู้ แต่ถึงจะไม่เคยได้ยินมันลือมันลั่น ท่านก็สามารถมารับรสความประสาทแดกของพวกเขาได้โดยไม่ต้องมีความรู้พื้นฐาน จากภาคที่แล้วใดๆทั้งสิ้น

The Unreasonable Man (ไม่รู้.มันคืออะไร.แต่ชอบ)

เต๋า สมชาย เข็มกลัด เล่นจริง เจ็บจริง โปรดิวซ์จริง ผ่านการกำกับของ ศุภรัฐ บุญมาแย้ม (ผู้กำกับเรื่อง ทะเลของก้อย ในหนังสั้นโครงการแด่พระผู้ทรงธรรม) ตอนนี้เราก็ยังไม่รู้ว่าเหมือนกันว่าหนังเรื่องนี้มันคืออะไร ... ก็เลยจะมาดูกันให้รู้เรื่องนี่ล่ะว่าตกลงแล้วมันคืออะไรกันแน่ (ENG SUBTITLE)

The Chronicles of Mad Mad Man

อัลวา ริตศิลา คือ หนึ่งในผู้กำกับหนังสั้นที่ชื่อหนังและตัวหนังเป็นที่จดจำมากที่สุดในปีที่ แล้วกับ ‘โมโฟ สิ้นชีวี อีดอกทอง’ (ปัจจุบันไม่มีใครเรียกว่าเขา อัลวา มีแต่คนเรียกว่า คุณโมโฟ) เขากลับมาอีกครั้งกับหนังยิงกันวินาศแต่เขาบอกว่าทำหนังเรต NC-17 เรื่องนี้ให้ แฟนเก่า (มันยังไงกันเนี่ย) ป.ล. หนังมีความหยาบคายขั้นสุดขีด โปรดพิจารณาจะพาเด็กมาชม (ENG SUBTITLE)

มึงฆ่าแฟนกู + ประทวย

เมธัส ศิรินาวิน ผู้กำกับหน้าตาเรียบร้อยและนิ่งๆดูมีคุณธรรมเหมือนเพิ่งลาสิกขามา แต่ใครจะรู้ว่าเขาคือหนึ่งในผู้นำเทรนด์การตั้งชื่อหนังสั้นแบบอภิมหาดิบ (เช่น หล่อสัดสัด, อีพลอยของกู ฯลฯ) และหนังสั้นบางเรื่องยังเคยโดน Youtube สั่งแบนเป็นเกียรติประวัติแก่วงศ์ตระกูล งานนี้เขาเอาหนังสั้นสองเรื่องมาฉายที่เรียกได้ว่า อร่อยลากเลือดกันเลยทีเดียว

มาร่วมเปิดประสบการณ์กินของดิบกับWILD AT HEART!วันศุกร์ที่ 20 มีนาคม 2552เวลา 19.00 น. / ห้องสมุดวิลเลียม วอร์เรน รถไฟฟ้า BTS สนามกีฬา (ออกประตู 1) และพูดคุยกับคณะผู้กำกับ อย่างสนุกสนาน

ชมฟรีเหมือนเดิม ไม่ต้องจองที่นั่งเหมือนเดิม! แต่ห้ามพกอาวุธกันมานะครับ 55
รายละเอียดอีกมากมายที่http://thirdclasscitizen.exteen.com/http://thirdclasscitizen.hi5.com/
อีเมล์ที่ thirdclasscitizen@hotmail.com
สอบถาม089-685-5253
สนับสนุนโดย JIM THOMPSON ART CENTER

รายละเอียด + แผนที่ทางไป ห้องสมุด วิลเลียม วอร์เรน ดูที่นี่เลยจ้าhttp://thirdclasscitizen.exteen.com/third-class-venues

3/1/09

ฝากหนังไทยไว้เดี๋ยวจะเลี้ยวมาเอา











เป็ดน้อย
12 นักสู้
บันทึกรักของพิมพ์ฉวี
แม่ยอดสร้อย

ชื่อเหล่านี้ที่เป็นอดีต มีใครนึกออกบ้าง

มิตร ชัยบัญชา
เพชรา เชาวราษฎร์
ส. อาสนจินดา
ไชยา
สุทิศา พัฒนุช
จินฟง
ศาลาเฉลิมไทย
ศาลาเฉลิมกรุง
เอ็มไพร์

ถ้าคุณคิดว่าหนังไทยยุคในภาพคือที่สุดของความเฉิ่มแล้ว ลองนึกดูหนังสมัยแรกเริ่มของไทเอนเตอร์เทนที่เป็นจุดเริ่มต้นแห่งจุดจบ!

(ด้วยความเคารพ-ชื่อบทความอ้างอิงถึงภาพยนตร์ "ฝากฝันไว้เดี๋ยวจะเลี้ยวมาเอา" กำกับและเขียนบทโดย สมเกียรติ์ วิทุรานิช / ร่วมเขียนบทโดย ดุลยสิทธิ์ นิยมกุล และ เกรียงศักดิ์ ศิลากอง)