11/6/09

Alain Tanner Retrospective ที่เทศกาลหนังเวิล์ดฟิล์มกรุงเทพครั้งที่ 7

Alain Tanner Retrospective ที่เทศกาลหนังเวิล์ดฟิล์มกรุงเทพครั้งที่ 7
http://www.worldfilmbkk.com/news/23/Retrospective:-Alain-Tanner.html

หนังใหม่น่าดูหลายเรื่องเข้าฉายในงาน 7th World Film Festival of Bangkok มีหนังหลายเรื่องมาหลอกล่อ ทั้งหนังของคนเก่าแก่ที่ติดตามกันมานาน และหนังที่วอนขอ อย่าง Philippe Grandrieux (A Lake) http://www.worldfilmbkk.com/films/31/Lake,-A.html, Tsai Ming Liang (Face) http://www.worldfilmbkk.com/films/4/Face.html, Ulrike Ottinger (The Korean Wedding Guest) http://www.worldfilmbkk.com/films/59/Korean-Wedding-Chest,-The.html, João Pedro Rodrigues (To Die Like A Man) http://www.worldfilmbkk.com/films/21/To-Die-Like-a-Man.html, Julio Bressane (The Rat Herb) http://www.worldfilmbkk.com/films/41/Rat-Herb,-The.html กับหนังนักเรียนของสถาบัน Cal arts Shorts http://www.worldfilmbkk.com/films/100/CalArts-Shorts:-Portrait-Documentaries-from-Womens-Perspective..html และก็อีกหลายชื่อที่ไม่คุ้นหู แต่ก็นะ บางทีคนเราก็ชอบย้อนกลับไปหาความทรงจำประทับใจเดิม ๆ ถึงเขาจะไม่ทำหนังใหม่อีกแล้ว อยากดูแล้วดูอีก ดูเท่าไรก็ไม่เบื่อ คราวนี้ก็คงต้องกลับไปดูโรงอีกเพื่อฟื้นความทรงจำ

Alain Tanner
หรือ อแลง ตองแนร์ ผู้กำกับชาวสวิสที่เป็นหัวหอกของหนังสวิตเซอร์แลนด์ร่วมกับ Claude Goretta (คล้อด กอเร็ตตา) ในช่วงทศวรรษ 70 อันที่จริงเขาเคยเป็นหนึ่งในกลุ่ม Free Cinema ที่อังกฤษทำเรื่อง Nice Time (1957) กับ Claude Goretta มาก่อนจะแยกดังเดี่ยวในยุคหลังเสียอีก

โอกาสดีมากที่คนไทยจะได้รู้จักหนังของเขา เพราะหนังของเขาแทบไม่เคยมาฉายเลย แม้แต่ตามสถาบันวัฒนธรรมทั้งหลายแหล่ หนังของเขาที่มาเข้าฉายในงานครั้งนี้มี 6 เรื่อง คือ Charles, Dead or Alive (1969), The Salamander (1971), Jonah Who Will be 25 in The Year 2000 (1976), Messidor (1979), Light Years Away (1981) และ In The White City (1983)

ผมเคยดูแค่ 3 เรื่องในจำนวนนี้ คือ The Salamander , Jonah Who Will be 25 in The Year 2000 และ In The White City แต่ก็เป็นหนังที่ผมชอบมากทั้ง 3 เรื่อง โดยรวมแล้วสไตล์หนังทั้งสามเรื่องจะค่อนข้างแตกต่างกันมาก หนังสองเรื่องแรกเขียนบทโดย John Berger นักเขียน / จิตรกรและนักวิจารณ์ศิลปะชื่อดัง ที่คนส่วนใหญ่จะรู้จักจากหนังสือชื่อ Ways of Seeing ที่กลายเป็นตำราประจำวิชาสิลปะ ซึ่งเดิมนั้นเขียนประกอบรายการศิลปะชื่อเดียวกันของเขาที่ฉายทางโทรทัศน์ช่อง BBC

เรื่อง The Salamander ผมเคยเขียนลงนิตยสาร Bioscope (ปกแฟนฉัน) ไปครั้งหนึ่งในการแนะนำ หนังสารคดีนอกรีต – ฉบับเอกเขนกแตกขนบ เรื่องนี้เกี่ยวกับผู้ชายสองคนที่ร่วมกันเขียนบทโดยใช้ตัวอย่างคดีของผู้หญิงคนหนึ่งที่ยิงลุงเป็นแบบ แต่พอไปรู้จักตัวเธอจริง ๆ ชีวิตของเธอก็ดูต่างจากที่เขาคาดไว้พอดู เรื่องก็จะเล่าให้เห็นความจริงบ้าง จินตนาการบ้าง แต่พอเล่าไปมาก็ไม่รู้อันไหนจริงกว่าหรอก ไม่สำคัญด้วยมั้ง แต่หนังจะดูตลกเพราะเห็นผู้ชายสองคนนี้ถกเถียงกันและมึน ๆ งงบ้างเมื่อต้องรับมือกับผู้หญิงตัวจริง อันนี้อาจเล่าไม่ถูกต้องนัก เพราะไม่ได้ดูเรื่องนี้นานแล้ว

ส่วนเรื่องที่สาม Jonah Who Will be 25 in The Year 2000 เรื่องนี้เคยแนะนำลง Bioscope เช่นกัน (ในฉบับ "หนังที่ทักษินควรดู") สองหนุ่มนักเขียนบทจาก The Salamander กลับมาร่วมแสดงกันอีก พร้อมกับคณะนักแสดงเก่ง ๆ อีกหลายคน (บางคนจากหนังเรื่องก่อนหน้านั้นด้วย) ที่เด่นก็คือ หมิว หมิว (Miou Miou) ดาราฝรั่งเศสที่คนคุ้นหน้าจากหนังตลกเพี้ยน ๆ ของ Bertrand Blier กับสาวอีกคน Myriam Mézières ที่ตอนหลังไปรับบทเด่นใน A Flame in My Heart หนังร้อนผ่าวขาวดำปี 1987 ของ ตองแนร์

เรื่อง Jonah นี้ฟังชื่ออาจนึกถึงหนังวิทยาศาสตร์ไซ-ไฟ แต่รับรองว่าดูแล้วรู้สึกร่วมได้ แม้จะไม่เข้าใจสถานการณ์สังคมของสวิตเซอร์แลนด์ในช่วงนั้น ก็นี่เป็นหนึ่งในหนังคลาสสิกที่มีพลังความเป็นมนุษย์สูงมาก มองดูคนทำงานอาชีพต่าง ๆ ทั้งชาวนา ทั้งคนทำงานออฟฟิศ เรื่อยไปจนถึงครอบครัวของเจ้าหนู โยนาห์ (Jonah หรือ Jonas) ที่จะเติบโตต่อไปในปี 2000 สำหรับหนังเรื่องนี้นักวิชาการ นักสังคม กับกูรูผู้รู้ทั้งหลายที่ชอบเสนอฉลาดตามกระทู้ ในเรื่องการอยู่ร่วมสังคมใต้ฟ้าเดียวกัน หรือชาว onopen ควรจะสละเวลาไปดู เพราะน่าจะดูแล้วชุ่มฉ่ำใจได้ไม่ยาก แม้หนังจะคุยกันทั้งเรื่องก็เถอะ

ส่วน In The White City ผมไม่เคยลืมว่าดูเรื่องนี้ครั้งแรกที่ไหน เพราะมันเป็นหนึ่งในหนังพิเศษเฉพาะ นั่นคือโรงหนัง Gate ที่ย่าน Notting Hill ในลอนดอนเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน ดูควบกับ Nostalghia ของ Andrei Tarkovsky จำได้ว่าประทับใจมากกว่าหนัง ทาร์คอฟสกี้ เสียอีก เรื่องนี้ บรูโน่ กั๊นซ์ (The American Friend, Wings of Desire, Downfall) นำแสดง เป็นกะลาสีเรือที่ไปเตร็ดเตร่ในลิสบอน โปรตุเกส ในมือติดกล้องถ่ายหนัง 8 มม. ไปตลอด เห็นอะไรก็ถ่ายส่งไปที่บ้านให้เมียดู แทนที่จะเขียนไปคุย หรือกลับไปหาเธอ เนื้อเรื่องไม่มีอะไรเป็นแนว road movie แต่ดูเป็น poetic กว่าหนัง วิม เวนเดอร์ส ทั่วไป สำหรับคนที่ชอบบรรยากาศเหงา ๆ สื่อสารกับใครไม่ได้ น่าจะรับไหว หนังไม่ถึงกับป็อปขนาด Wong Kar Wai แต่ก็ไม่ยากเกินไป

In The White City หนังเรื่องนี้ถ่ายได้บรรยากาศวิเวกมาก ควรดูเป็นฟิล์มในโรงหนัง จะเห็นเกรนแตก ๆ ของหนัง 8 มม. สวยเหลือเกิน

โปรดิวเซอร์เรื่องนี้คือ Paolo Branco ที่อำนวยการสร้างหนังดี ๆ ให้ผู้กำกับเยอะแยะ ไม่เชื่อลองดูรายชื่อ เช่นหนังของ Manoel de Oliveira, Cedric Kahn, Raoul Ruiz, Olivier Assayas, Chantal Akerman, Barbet Scroeder, Werner Schroeter, Sharunas Bartas, Pedro Costa, Peter Handke, Andrzej Zulawski, Valeria Bruni-Tedeschi, Luc Moullet, Philippe Garrel, Mathieu Amalric, João Botelho, André Téchiné, João César Monteiro และ Wim Wenders


พิเศษอีกอย่างในงาน คือ ฌอง ลุค บิโด (Jean-Luc Bideau) ดาราชื่อดังชาวสวิสที่แสดงนำในหนังของตองแนร์ หลายต่อหลายเรื่อง ก็จะมาปรากฏตัวให้ได้ยลด้วย

ดูก่อน อ่านทีหลัง
ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด อ่านบทความของ ‘กัลปพฤกษ์’ เกี่ยวกับหนังของผู้กำกับ Alain Tanner ได้ในนิตยสาร Filmax ฉบับเดือนพฤศจิกายนนี้: http://www.worldfilmbkk.com/news/23/Retrospective:-Alain-Tanner.html

6 comments:

Filmvirus said...

อ่านบทความแนะนำหนังเรื่องอื่นๆ ในงาน world film festival of Bangkok ได้ที่บล็อก- กลแสง http://atrickofthelight.wordpress.com/

Filmvirus said...

ดูหนังของ Alain Tanner หลายเรื่องติดต่อกันแล้วนึกถึงคำคำนี้ “มนุษย์ผู้อยู่ใต้เงื่อนไข” จากที่นานมาแล้วเคยดูแค่ In the White City, Jonah who will be 25 in the year 2000, The Salamander กับ A Flame in My Heart พอได้ดู Messidor, Charles, Dead or Alive, Light Years Away เพิ่มเลยได้เห็นกลุ่มตัวละครที่หลากหลายขึ้นอีก ได้เห็นโฟกัสที่ผู้บริหารใน Charles ได้ดูสาวเร่ร่อนใน Messidor และนักฝันใน Light Years Away พวกคนทำงานหรือชุมชนที่ดูแลตัวเองแล้วหลังชนฝาเวลาเจอระบบและคนในเครื่องแบบ แต่ทุกฝั่งฟากก็มีข้อจำกัดในแบบเฉพาะ

A Flame in My Heart ที่สร้างในยุคต่อมา (ไม่ได้ฉายในงาน World Film) แล้วเอาสาวออฟฟิศที่ชอบปฏิบัติกามกิจประกอบ Tantra ใน Jonah ไปแสดงนำ (และร่วมเขียนบท) ก็เหมือนส่วนขยายของประเด็นเดิม แต่ไปเน้นที่อิสระภาพทางเซ็กส์ของตัวละครหญิงที่ความต้องการล้นเหลือของเธอต้องพบขีดจำกัด

ขอบคุณ World Film Festival of Bangkok ที่ทำให้ได้ชมหนังของ Alain Tanner เพิ่มขึ้นอีก และทำให้ได้ภาพรวมครบถ้วนมากขึ้น ไม่น่าเชื่อว่าต้องรอดูหนังอย่าง Messidor, Charles, Dead or Alive, Light Years Away ถึง 20 กว่าปีแน่ะ (ส่วน In the White City ก็นั่นแหละ นานพอกันกว่าจะได้ดูซ้ำ) เสียดายไม่ได้ดู The Middle of the World และ A City at Chandigarh ซึ่งเป็นหนังอีกสองเรื่องที่ Alain Tanner เขียนบทร่วมกับ John Berger

FILMSICK said...

MAN AGAINST THE SYSTEM : THE INTELLECTUAL STRUGGLE OF ALAIN TANNER อยากตั้งชื่อบทความประมาณนี้ 555

กราบขอบพะคุณท่านเจ้าสำนักที่ชวนชม ผมเลยซัดรวดเดียวหกเรื่องควบ และพยายามจะเขียนถึงมันอยู่ในตอนนี้ :)))

กัลปพฤกษ์ said...

หลายปีก่อนเรื่อง Fourbi (1996) ของเขาก็เคยมาฉายในงาน Francophonie ที่สมาคมฝรั่งเศส กรุงเทพฯ ด้วย ไม่รู้ว่า Filmvirus ได้ไปดูด้วยหรือเปล่า? เนื้อเรื่องออกจะคล้าย ๆ The Salamander อยู่เหมือนกัน เพราะเล่าถึงความพยายามในการเขียนบทหนังโทรทัศน์จากกรณีข่มขืนโดยใช้นางนกต่อ

Filmvirus said...

จำได้ว่าจิตรเคยพูดถึงเหมือนกัน แต่อดดูไม่รู้ไปอยู่ที่ไหน ที่จริงได้ดูหนังปี 86 หรือ 87 เรื่องอะไร phantom อะไรสักอย่างที่ NFT ด้วย แต่ไม่นับ เพราะจังหวะไม่ดีเลยได้ดูไม่จบ

FILMSICK said...

หนังของTANNER ไม่เคยทำหน้าที่เป็นภาคตัดขวางของความพ่ายแพ้ของอุดมการณ์ มุ่งหมายแสดงความสุกสว่างของอุดมการณ์ซึ่งค่อยๆถูกโลกอันเลวร้ายทำลายไป หนังของTANNER มักกินเวลายืดเยื้อยาวนาน นับเดือน หรือนับปี ตัวละครผู้ยึดมั่นในอุดมการณ์ทางสังคมของTANNER ถูกทดสอบครั้งแล้วครั้งเล่า และค่อยๆพ่ายแพ้ทีละน้อย พวกเขาต้านขืนปรงเสียดทานของสังคมด้วยการไถลออกไปนอกกรอบขอบเขตดั้งเดิมเพื่อท้าทาย หากเป็นแรงเฉื่อยของพวกเขาเท่านั้นเองที่ผลักบรรดาตัวละครไปข้สงหน้า เมื่อแรงเฉื่อยนั้นหมดลง วัตถุทางอุดมการณ์ก็จำต้องหยุดนิ่ง ล้มเลิก พ่ายแพ้ ก่อนจะก่อร่างแรงเสียดทานของตนขึ้นใหม่

พยายามจะเขียนถึงอยู่ Quote บางตอนมาแชร์ก่อนครับ