6/16/08

ทำไมคนไทยจึงควรทะนุถนอม เจ้ย อภิชาติพงศ์

ทำไมคนไทยจึงควรทะนุถนอม เจ้ย อภิชาติพงศ์
โดย สนธยา ทรัพย์เย็น filmvirus@yahoo.com

เถียงกันไม่จบเรื่องความเหมาะสมของ 4 ฉากใน ‘แสงศตวรรษ’ (โดยผู้ชำนาญการทั้งหลายที่ยังไม่ได้ดูหนัง) จนลืมสาระสำคัญว่าน่าจะเกิดประโยชน์กว่าไหม หากเราจะหันมาพิจารณาว่าอะไรที่ทำให้ เจ้ย - อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล เป็นคนทำหนังชาวไทยที่สมควรได้รับการเอาใจใส่และให้การสนับสนุนส่งออก ไม่แพ้นักกีฬาทีมชาติ แชมป์ฟิสิกส์เยาวชน ศิลปินแนวอนุรักษ์สยาม และสาวไทยผิวเข้ม

หนุ่มเจ้ยฝากฝีมือระบือโลกมาตั้งแต่ 7 ปีที่แล้วเมื่อกองทุนฮิวเบิร์ต บาลส์ ประเทศเนเธอร์แลนด์ออกทุนสร้าง ‘ดอกฟ้าในมือมาร’ หนังขาวดำรูปแบบพิสดารซึ่งแจ้งเกิดที่เทศกาลหนังร็อตเตอร์ดาม เพราะนี่คืองานที่สะท้อนลักษณะศิลปะแนวร่วมด้วยช่วยคิดไว้ได้อย่างน่าตื่นตา ไร้รูปแบบเรื่องเล่าตายตัวทั่วไป มีเพียงกล้อง 16 มม. ที่เจ้ยแบกกล้องตามถ่ายชาวบ้านของแต่ละภาคทั่วไทย รู้เห็นชีวิตประจำวันสุดแสนธรรมดาของเขาเหล่านั้น ก่อนที่หนังจะก้าวข้ามไปมาระหว่างประสบการณ์จริงกับเรื่องเล่าปาฏิหาริย์ หนังข่าว ทอล์คโชว์ และจินตนาการมหัศจรรย์ ที่โยนลูกเต๋าให้มนุษย์เดินดินแต่ละราย ได้มีโอกาสด้นสดแต่งเติมนิทาน (คนละ) เรื่องเดียวกัน ซ้ำยังชี้ว่าประสบการณ์ทางศิลปะนั้นแชร์กันได้ ไม่ใช่วรรณะห่างเหินระหว่างหน้ากล้อง หลังกล้อง และคนดู


นักแสดงมือสมัครเล่นของหนังเจ้ย ซึ่งหน้าตาผิวพรรณห่างไกลจากมาตรฐานดาราผิวไข่มุก เป็นกลุ่มคนที่สื่อละครทีวีหรือหนังใหญ่ทั้งหลายแทบจะไม่มีวันมอบคิวให้สิทธิ์และโอกาส ผลงานถัดจากนั้นคือ สุดเสน่หา’, ‘สัตว์ประหลาด’และ ‘แสงศตวรรษ’ ซึ่งยังคงล้อมรายด้วยกลุ่มดาวโนเนม ยิ่งมีแต่ตอกย้ำว่าที่ทางของหนังก้าวไกลไม่ได้มีแค่เพียงการเล่าเรื่อง เร้าอารมณ์ มอบคติสอนใจ เป็นปากเสียงของชุมชน อวดฉลาดด้วยสไตล์กล้องหรือบทพูดคมคาย หรือสั่งเสียคนดูด้วยศีลธรรมอัดเม็ด เจ้ย นั้นชอบเล่นล้อเรื่องจริงกับเรื่องมายาอยู่เสมอ แถมยังกล้าปฏิเสธการผูกขาดจากระบบดารา ค่ายหนัง หรือแม้กระทั่งเงินบาท อีกทั้งบทหนังสำเร็จรูป หรือบทประพันธ์ดัดแปลง ที่เคยเป็นเครื่องการันตีหนังไทยคุณภาพ ก็หาใช่ข้อแม้สำคัญอีกต่อไป

เจ้ย ทำหนังด้วยวิญญาณของนักค้นคว้าตลอดกระบวนการทำหนัง เขาสนุกกับการค้นหามากกว่าการค้นพบ อันว่านักแสดงชาวบ้าน ทีมงาน โลเกชั่น เรื่องราวที่พร้อมจะสับเซ็ทถ่ายเทไปมานั้น ต่างก็มีอิทธิพลต่อตัวหนังได้ตลอดเวลา ทั้งยังช่วยให้เขามองเห็นตัวเองและคนรอบข้างได้ชัดเจนขึ้น เป็นการเก็บรายละเอียดสัมผัสทางอารมณ์ เฝ้ามองอารมณ์ขันเรียบง่ายในชีวิตแบบพื้น ๆ ซึ่งยืดหยุ่นกว่าการยึดติดกับบริบททางความคิดที่วางแผนตายตัวล่วงหน้า เพราะนั่นอาจหมายถึงการพลาดโอกาสเปิดตาใสมองโลกอย่างพิศวงตื่นรู้ ไวต่อการสังเกตการณ์ ปลอดจากนิสัยชอบตัดสินถูกผิด เพราะการเป็น ‘นักเรียนชีวิต’ รับฟังธรรมชาติ วัฏจักรความเป็นอยู่ ความเชื่อของผู้คนนั้นสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด และที่สำคัญไม่ย่อหย่อนไปกว่าก็คือ การดูหมิ่นเหยียดหยาม เยาะเย้ยเสียดสี เปิดโปงความงมงาย ความชั่วร้ายของบุคคล และองค์กรใดนั้นช่างห่างไกลเหลือเกิน ทั้งจากตัวหนัง ความสนใจ และบุคลิกนิสัยของเจ้ย เท่าที่ผมได้รู้จักมาตั้งแต่ตอนลั่นกล้อง ‘ดอกฟ้าในมือมาร’


หลายคนล้อเลียนเจ้ย ว่าดัดจริตทำหนังดูยาก บ้างก็หาว่าทำหนังไม่เป็น บ้างก็หาว่าทำหนังเอาใจฝรั่งหัวสูง ซึ่งข้อกล่าวหากลุ่มนี้ผมพอเข้าใจได้ เพราะว่าหนังเจ้ยไม่เคยเน้นเล่าเรื่องราว หลายฉากเป็นเพียงภวังค์ ความคิดฝันที่ไหลเลื่อนไม่ปะติดปะต่อ ซึ่งเอื้อนเอ่ยทิ้งน้ำหนักสละสลวยดั่งนักกลอนเอก คนดูหลายคนจึงอาจอึดอัดใจ หากนำแว่นการดูหนังวิเคราะห์วรรณกรรมตามหลักสูตรมาใช้วัดคุณค่า เช่น การพัฒนาตัวละคร สร้างความขัดแย้ง โครงสร้างเรื่องเล่า 3 องก์ ตลอดจนการคลี่คลายเรื่องแบบตีสรุป พร้อมคติธรรม

น่าเสียดายที่เราคนดูหนัง กลับคุ้นเคยกับภาพชีวิตไทยชาวบ้านในลักษณะงดงามพาฝัน สังคมแย้มยิ้มปรองดอง หรือไม่ก็อิงแอบหาหนังที่ทุกอณูชีวิตจะต้องระห่ำใจมาร ขันแข่งแก่งแย่งจนทำให้พวกเราละเลยความเรียบง่ายประจำวันของชีวิต ตื่นตูมปฏิเสธฉากพระเล่นกีต้าร์ แพทย์เกิดอารมณ์เพศ หมอจิบเหล้าซึ่ง เจ้ย นำเสนอในลักษณะไม่ขับเน้น ไม่จับจ้อง ไม่หวังกระตุ้นต่อมอารมณ์ตุ้มติ่ม ต่างกันโลดจากที่ โกยผีแต๋ว หมอซ้งติงต๊อง เท้าพระพรมหน้าโยม และตลกหยาบโลนได้กระหน่ำโสตประสาทคนดูหนังไทยมานับโกฏิปี

คงวิเศษนัก หากเราเปิดใจว่า หนังนั้นสามารถมีอิสระเฉไฉได้ดั่งปลายพู่กัน เราควรใจกว้างยอมรับว่าหนังที่ดีไม่จำเป็นต้องถูกจำกัดให้สรุปความ ถกเถียงปรัชญา ตีแผ่บุคลิกตัวละครอย่างเจาะลึก เพราะบางครั้งแค่การเดินเคียงคู่ แอบฟังตัวละครเกี้ยวพากันอย่างละเมียดละไมชั่วครู่ยามก็น่าจะเพียงพอแล้ว หนังที่มีค่าไม่จำเป็นต้องตอบคำถามสำคัญ สู่รู้ไปทุกเรื่อง หรือห่วงใยมนุษยชาติอย่างออกหน้าโอเวอร์ เพราะไม่ว่าจะเป็น หมอ พยาบาล ทหาร พระ เกย์ นักร้อง หรือหญิงชาวบ้านวัยกลางคน ทุกคนก็เป็นเพียงหลายชีวิตที่พบปะทักทาย แลกเปลี่ยนความเห็น พูดคุยหยอกเอินกันได้ แม้แต่หมอโรงพยาบาลซึ่งกำลังรักษาหลวงพี่ (ใน ‘แสงศตวรรษ’) ก็อาจสลับตำแหน่งกลายเป็นลูกค้ายาแผนโบราณของพระท่านได้เหมือนกัน ซึ่งนี่เป็นอารมณ์ขันในชีวิตพื้น ๆ ที่ชาวบ้านเจนตา เพียงแค่คนเราไม่ตั้งแง่ วางมาดเท่เป็นรูปปั้นพนักงานตัวอย่างกันตลอด 24 ชั่วโมง ทุกคนก็สามารถนั่งขำกันอย่างสมสุข เช่นเดียวกับคนดูหนัง 200 กว่าคนที่ชม ‘แสงศตวรรษ’ ในรอบสื่อมวลชน

หากเราไม่นั่งเกร็งกับการดูหนังประเภทเอาความจนเกินไป เรื่องราวครึ่งหลังของ สัตว์ประหลาด และ แสงศตวรรษ นั้นอาจจะไม่ใช่ภาระหนักหนานัก ลองมองใหม่ดูบ้างว่าเจ้าครึ่งหลังของหนัง 2 เรื่องนั้นอาจเป็นแค่ภาพกลับ / สลับร่าง / แปลงร่าง ที่มีทั้งความเหมือนและความต่างของบุคคล หรือกลุ่มตัวละครเดียวกัน และมันสะท้อนภาพฝัน ความโหยหาที่พลิกผันคาบเกี่ยวระหว่างความทรงจำกับแฟนตาซี เพราะหนังนั้นเป็นได้ทั้งภาพจริงและภาพเปรียบเปรย ขออย่ายึดถือตายตัวกับภาพถ่ายของจริงจนเกินงาม เพราะศิลปะของแท้นั้นมีคุณสมบัติทางนามธรรมที่สามารถถ่ายทอด “ให้เห็นในสิ่งที่ไม่ได้โชว์ให้เห็น” คล้ายคำคมของ โจนาธาน สวิฟต์

เอกลักษณ์ของหนังเจ้ย คือย้ำให้เราตระหนักถึงความมหัศจรรย์ของโลกที่ฟ้าประทานโสตประสาท ดวงตา หู ให้เรารับรู้โลกสวยงาม รู้สึกถึงความลึกลับ ปริศนา อันตราย มนต์เสน่ห์ของจินตนาการและธรรมชาติ โดยใช้สื่อภาพยนตร์ซึ่งเป็นสื่อภาพเคลื่อนไหวที่เหมาะเหม็งในการบันทึกภาพชีวิตของคนยุคใหม่ อย่างยากที่ศิลปะแขนงอื่นจะทำได้เทียมเท่า และในตอนจบของหนัง แสงศตวรรษ ก็เช่นเดียวกับ ดอกฟ้า ที่เจ้ย ถอยโฟกัสออกจากกลุ่มตัวละครสมมติ กลับไปหาความงามในชีวิตประจำวันของชาวบ้าน (และทีมงานหลังกล้อง) ด้วยการทำกิจกรรมกลางแจ้งร่วมกันในสวน คล้ายกับที่ เฟเดริโก้ เฟลลีนี่ เคยนำตัวละครในโลกจินตนาการของเขาออกมาเดินนวยนาดบนแคทวอล์ควงกลม เพื่อสะท้อนวงจรสุขนาฏกรรมทบบรรจบในตอนท้ายของ 8 ½ (แปดครึ่ง)

อนาถใจนักว่าการรอคอยมานานกว่า 20 ปีของผม วันที่คนไทยฝีมือระดับ Master ของโลกจะได้รับการต้อนรับอย่างสมเกียรติ สมกับที่หนังลีลากวีเรื่อง ‘สัตว์ประหลาด’ และ ‘แสงศตวรรษ’ นั้นงดงามทัดเทียมกับกลอนภาพชั้นครูเรื่อง The Mirror ของ อังเดร ทาร์คอฟสกี้, Amarcord ของ เฟลลีนี่ และ Persona ของ อิงมาร์ เบิร์กแมน ทำไมประเทศนักเลงใจเสี่ยอย่างเราจึงขาดนายทุนไทยใจกล้า ทำไมเราต้องเสียดสีถากถางเจ้ยเพียงเพราะหนังเขาไม่สอพลอคนดู ทำไมเราจึงผลักไสเขาไปดิ้นรนหาการอุปการะจากต่างชาติ ซ้ำยังไม่มีโอกาสฉายผลงานฉบับสมบูรณ์ให้คนไทยด้วยกันได้ชมในโรงภาพยนตร์อีกต่างหาก
---แล้วเราก็ทำบาปกับอัจฉริยะตัวจริงอีกครั้ง....และอีกครั้ง เช่นเดียวกับคนไทยมีฝีมือรุ่นต่อ ๆ ไป ซึ่งยากจะเลี้ยงโต ซ้ำรังแต่จะหาพื้นที่ยืนของตัวเองได้อย่างยากเย็น ครั้นเมื่อยืนหยัดบนลำแข้งของตัวเองได้เมื่อไร ก็คงต้องเตรียมตัวถูกทวงบุญคุณว่าการเป็นคนไทยที่ดีนั้น ต้องพลีกายถวายท้ายให้แผ่นดินแม่บ้าง

(ตีพิมพ์ใน : กรุงเทพธุรกิจ ฯ คอลัมน์จุดประกาย วันศุกร์ที่ 11 พฤษภาคม 2550)

1 comment:

celinejulie said...

ไม่รู้มีคนบอกพี่แล้วยังว่า ในหนังเรื่อง “รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา” เอ๊ย ไม่ใช่ ในหนังเรื่อง รักสามเศร้า (THE LAST MOMENT) (2008, Yuthlert Sippapak, B+) ตัวละครในหนังอ่านหนังสือ “สัตว์วิกาล” ด้วย