2/21/08

เรื่องของคนเขียนบท

เรื่องของคนเขียนบท

พูดถึงคนเขียนบทเก่ง ๆ อย่าง Suso Cecchi d'Amico ไปแล้ว
(http://twilightvirus.blogspot.com/2008/02/best-of-best-anna-magnani.html)
เห็นคนเขียนบทชาวฮอลลีวู้ดเขาประท้วงก็แล้ว จึงอยากตั้งข้อสังเกตว่างานเขียนบทส่วนใหญ่ โดยเฉพาะหนังอเมริกันที่ผู้กำกับหลายคนชอบแอบอ้างทฤษฎี “ออเตอร์”- auteur แสดงความเป็นเจ้าของบทหนัง (ซึ่งสะท้อนตัวตนของผู้กำกับ) หากความจริงแล้ว คุณงามความดีเกือบทั้งหมดนั้นกลับสมควรตกอยู่กับนักเขียนบทมากกว่าตัวผู้กำกับเองเสียอีก (ซ้ำตัวหนังยังสะท้อนชีวิตส่วนตัวของคนเขียนบทเต็มไปหมด)

ตุ๊กตาตัวที่ 1

เร็ว ๆ นี้ได้ดู Two for the Road ของ Stanley Donen ที่นำแสดงโดย ออเดรย์ แฮปเบิร์น (Audrey Hepburn) กับ อัลเบิร์ต ฟินนี่ย์ (Albert Finney) ทำให้นึกขึ้นได้ว่า Frederic Raphael มีคุณสมบัติความเป็นส่วนตัวแบบ “ออเตอร์” เพราะเคยเขียนบท Darling ให้ John Schlesinger กำกับ (จูลี่ คริสตี้ นำแสดง) รวมทั้งต่อมาร่วมมือกับ แสตนลี่ย์ คิวบริค (Stanley Kubrick) เขียนบทหนังเรื่อง Eyes Wide Shut ย่ำยี ทอม ครุ้ยส์ กับ นิโคล คิดแมน โดยหนังทั้ง 3 เรื่องที่เอ่ยไปนี้ล้วนเน้นไปที่เรื่องของปัญหาสมรสของคู่ผัวเมีย หรือไม่ก็ชีวิตฟรีเซ็กส์ของตัวละครเอก

ตุ๊กตาตัวที่ 2

ฌอง คล้อด คาร์ริเยร์ (Jean-Claude Carrière) เป็นหนึ่งในคนเขียนบทมือทองชาวฝรั่งเศสที่ร่วมงานกับผู้กำกับสเปน- หลุยส์ บุนเยล - Luis Buñuel ในยุคบั้นปลายมาประมาณ 6 เรื่อง และทั้งหมดเป็นงานระดับคลาสสิก โดย บุนเยล เองก็เคยเขียนในหนังสืออัตชีวประวัติว่า เขาสองคนทำงานเขียนบทกันแบบถูกคอมาก ๆ แต่แม้ว่า Carrière จะเขียนบทหนังดีให้คนทำหนังคนอื่น ๆ ไม่น้อย แต่ผลงานกลุ่มที่แยกคู่จาก บุนเยล กลับได้รับการยกย่องในเชิงศิลปะน้อยกว่า (ส่วนใหญ่จัดอยู่ระหว่างหนังคุณภาพโปรดักชั่นดีกับหนังบันเทิงที่ไม่ฉายตัวตนของคนเขียนบทหรือผู้กำกับเด่นชัด – อาจมียกเว้นบ้างก็เช่น Max Mon Amour ของ นางิสะ โอชิม่า และ Passion ของ ฌอง- ลุค โกดาร์)

ใน Birth ที่นำแสดงโดย นิโคล คิดแมน หนังของ โจนาธาน เกลเซอร์ (Jonathan Glazer) เกี่ยวกับผู้หญิงที่พยายามจะเชื่อว่าเด็กชายที่เธอได้พบคือสามีของเธอที่ตายไปแล้ว บทหนังที่ร่วมเขียนโดย ฌอง คล้อด คาร์ริเยร์ ได้รับอะไรมาไม่น้อยจากบทหนังเก่า ๆ ของเขาเองเรื่อง The Return of Martin Guerre (เฌราร์ด เดอปาดิเญอ และ นาตาลี บาย) และ Sommersby (ริชาร์ด เกียร์ และ โจดี้ ฟอสเตอร์) ซึ่งเนื้อเรื่องเกี่ยวกับหญิงสาวที่เชื่อว่าชายคนที่กลับมาจากสงครามคือสามีของเธอ และแม้ว่าต้นเรื่องหนัง 2 เรื่องหลังนี้จะมีที่มาจากนิยายของ Janet Lewis ก็จริง แต่สาเหตุที่ผู้กำกับชาวอังกฤษเลือกคนฝรั่งเศสอย่าง คาริเยร์ ไปเขียนบททำหนังอเมริกันเรื่อง Birth ย่อมไม่ใช่เรื่องบังเอิญ

ส่วน บุนเยล นั้น สมเป็นพระเอก auteur ตัวจริง คือไม่ว่าทำงานกับนักเขียนบทคนไหน ดัดแปลงบทจากนิยายเรื่องใด กลิ่นของบุนเยล เองก็กลบกลิ่นของคนอื่นแทบหมดสิ้น แต่ก็เป็นที่น่าสังเกตว่าพรสวรรค์ของตัว Carrière อาจเข้ามาเสริมในแง่ที่ทำให้หนังยุคหลังของบุนเยลดูร่ำรวยอารมณ์ขันและมีลูกเล่นมากขึ้น (หรือไม่ก็เป็นเพราะวัยชราของ บุนเยล เองที่ปล่อยวางมากขึ้น)

อ่านบทความเกี่ยวกับ Jean-Claude Carrière เพิ่มเติมได้ใน Filmvirus เล่ม 2

No comments: